Teahouse ในเนปาล
top of page

Teahouse ในเนปาล

อัปเดตเมื่อ 20 พ.ค. 2566

ที่พักที่คุณต้องรู้ ก่อนมาเทรกที่เนปาล

By Chabakaew


การเดินเทรกในเนปาล คืออะไร?

การเดินเทรกก็คือการเดินป่า เดินขึ้นเขาในประเทศเนปาล เป็นการเดินทางที่ลำบาก เป็นการเดินทางที่ซับซ้อน สามารถเดินข้ามเนินเขา ข้ามภูเขา ป่าไม้ ดังนั้นมันจึงเป็นการผสมผสานระหว่างการเดินกับธรรมชาติ สำหรับฉันช่วงระยะการเดินทางเป็นเหมือนการทำสมาธิ การเดินทางในภูเขาผ่านป่าไม้และสัตว์ป่า ที่ซึ่งคุณสามารถเข้าไปลึกในความคิดและผ่อนคลายความรู้สึก มีสมาธิ บางทีบางคนอาจขัดแย้งกับฉัน โดยบอกว่าการเดินที่ยาวนานและลำบากไม่สามารถผ่อนคลายได้ แต่ฉันคิดว่าจริง ๆ แล้วการเดินเทรก ทำให้เราจดจ่อ และมีสมาธิ ได้ดียิ่งขั้น

มนัสลู เทรก (Manaslu Trek)

หากคุณสงสัยว่าความเชื่อมโยงระหว่างเนปาล กับการเดินเทรก เป็นอย่างไร คำตอบนั้นคือ มันแยกกันไม่ออก เมื่อคุณดูแผนที่เนปาลคุณจะสังเกตเห็นได้ว่า ภูมิประเทศของเนปาล เป็นสวรรค์ของนักเดินป่า ที่จริงแล้วการท่องเที่ยวเนปาลทั้งหมด เน้นไปที่ภูเขาและการปีนเขาในเนปาล ถือเป็นกิจกรรมอันดับหนึ่งสำหรับผู้มาเที่ยวประเทศนี้ เมื่อคุณก้าวเข้าไปในเมืองกาฐมาณฑุ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเนปาลคุณจะเห็น บริษัททัวร์มากมายขายทัวร์เดินเทรกและแพคเกจต่าง ๆ คนส่วนใหญ่จะยอมรับว่าหากคุณตัดสินใจที่จะไปเที่ยวประเทศเนปาล คุณจะต้องกลับไปประเทศนี้อีกไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เหมือนมีสิ่งมหัศจรรย์เกี่ยวกับประเทศนี้ที่ล่อลวงคุณ และคุณอาจจะจบลงเหมือนพวกเรา ที่ไล่ล่าเที่ยวบินไปประเทศเนปาล

Boudhanath Stupa in Kathmandu

และเมื่อคุณต้องมาเดินเทรกครั้งแรกในประเทศเนปาล มีคำถามเกิดขึ้นในใจมากมาย คำถามหนึ่งที่ต้องมี คือคำว่า “ทีเฮาส์ (Tea-house) คืออะไร?” ทำไมชื่อที่พักบนเขาถึงเป็น ทีเฮาส์ เราต้องเอาอะไรติดตัวมาบ้าง แล้วเราจะกินอะไร? ที่ไหน? อย่างไร? ราคาจะแพงไหม? และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย


ในการมาเดินเทรกที่ประเทศเนปาล ต้องใช้เวลาเดินทางหลายสัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือน นั่นหมายความว่านักเดินทาง จะใช้เวลาหลายคืนในการเดินทาง และต้องเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับที่พัก ในเส้นทางเดินป่ายอดนิยม เราจะเรียกที่พักกันว่า ทีเฮาส์ (Tea-house) หรือ แปลเป็นไทยตามตัว ก็โรงน้ำชา ทำให้นึกถึงหนังจีนกำลังภายในขึ้นมาทันที “เสี่ยวเอ้อ เหล้านารีแดง สองไห” เหล้านารีแดงของพระเอกยังไม่ทันมา ในร้านตบตีกัน พระเอก อดกินเหล้านารีแดงตลอด เอ้านี่เราออกทะเลไปเสียแล้ว กลับเข้ามาที่เรื่องของเรากันค่ะ


มีคำถามจากหลาย ๆ ท่าน ถามมาว่า “ทำไมโรงแรมบนเขา ถึงชื่อ ทีเฮาส์ ชื่อเดียวกันหมดเลยหล่ะคะ หรือว่าเค้ามีสาขาอยู่ทุกหมู่บ้าน บนเขา?” สำหรับใครที่เคยมาเดินป่าที่นี่แล้ว อาจดูเป็นคำถามที่ตลกขำขัน ถ้าคุณเป็นคนหนึ่ง ที่ไม่เคยมาเดินป่าที่นี่เลย ไม่เคยอ่านรีวิวเลย หรือรีวิวอาจจะมีแต่ก็น้อยมาก ก็ต้องเกิดความสงสัยเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากที่พักบนเขา จะมีจำนวนจำกัด ทีเฮาส์ ทุกที่ก็จะมีชื่อเหมือนชื่อโรงแรมนั่นแหล่ะค่ะ แต่เนื่องจากว่า เราไม่สามารถที่จะเลือกพักได้ เพราะบางที่ อยู่ห่างไกลเกินที่จะติดต่อสื่อสารและจองที่พัก เราจึงไม่สามารถระบุชื่อของ ทีเฮาส์ ได้ จึงต้องใส่ชื่อเป็นทีเฮาส์ ไว้ก่อน

Teahouse at high camp in Mardi Himal Trek

ทีเฮาส์ เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ออกแบบ ง่าย ๆ เป็นที่พักผ่อนหลับนอนของนักเดินทาง ตลอดเส้นทางการเดินเทรกในเนปาล เราจะได้ทานอาหารร้อน ๆ และสดใหม่ จากทีเฮาส์ สภาพของที่พักจะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าจะอยู่ห่างไกลความเจริญของเมืองมากน้อยแค่ไหน บางที่อยู่ในหมู่บ้านใหญ่ การขนส่งเข้าถึงโดยไม่ลำบากมากนัก ก็จะมีความหรูหรามากหน่อย บางที่การขนส่งต้องเดินทางด้วยเท้าอย่างเดียว ทำขึ้นมาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น ให้พอนอนได้ หลบฝนหลบลมได้เป็นพอ อาจเป็นไม้หรือสังกะสีแผ่นบาง ๆ ให้นอนฟังเสียงลม เสียงกรน หรือเสียงนักเดินทางห้อง ข้าง ๆ ในยามค่ำคืน กล่อมเราให้หลับแทนเพลงสุนทราภรณ์ ถามว่า นอนหลับไหม? ถ้าไม่ได้ป่วยในระหว่างเดินทาง ฉันขอบอกเลยว่า หลับแน่นอน เดินขึ้นลงเขามาสามสี่ลูกทั้งวัน แค่เห็นเตียงก็เหมือนสวรรค์แล้วค่ะ

ทีเฮาส์ ในเส้นทางมารดิหิมาล

ทำไมถึงเรียกว่า ทีเฮาส์ เนื่องจากในระหว่างการเดินเทรก อากาศจะค่อนข้างหนาว ไม่ว่าจะเป็นช่วง เช้า เที่ยง เย็น น้ำชา เป็นเครึ่องดื่มที่มีความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งจากชาวบ้าน และนักเดินทาง ดังนั้นจึงเรียกที่พักระหว่างทางเหล่านี้ว่า "ทีเฮาส์"


ในแต่ละเขต แต่ละหมู่บ้าน ลักษณะของ ทีเฮาส์ จะมีการปลูกสร้างคล้าย ๆ กัน เมนูอาหารก็เหมือนกันเป๊ะ ไม่ต้องคิดเลยว่า ฉันนอนที่นี่ แล้วจะไปทานอาหารที่โน่น เพราะมันเหมือนกันหมด (และทุกที่จะมีข้อกำหนดด้วยว่า นอนที่ไหนกินที่นั่น ไม่งั้นคุณจะโดนปรับราคาค่าห้องขึ้นเป็น 10 เท่า) ถ้าคุณมาเดินในเส้น อันนาปุรณะเบสแคมป์ (Annapurna Base Camp or ABC) ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของ ACAP (Annapurna Conservation Area Project) ในเขตนี้ จะออกกฎในเรื่องการก่อสร้าง ทีเฮาส์ ทุกที่ในเส้นทางนี้ จะต้องมีลักษณะเหมือนกันหมด (ยกเว้นโกเรปานีไว้หนึ่งหมู่บ้าน ในเรื่องการก่อสร้าง) จะต้องไม่มีห้องน้ำในตัวเหมือนกันหมดทุกที่ อาหารและราคาอาหารเท่ากันหมดทุกที่ อันนี้ไม่รู้ว่า กำหนดรสชาติ อาหารให้อร้อยอร่อย เหมือนกันทุกที่รึเปล่า เพื่อป้องกันการเหลื่อมล้ำ ในการเลือกที่พักของนักท่องเที่ยว คุณจะนอนที่ไหนมันก็คือกันหมดนั่นแหล่ะจ๊ะ

Teahouse อันนาปุรณะเบสแคมป์

แต่ถ้าไปเดินเส้น อันนาปุรณะเซอร์กิต รวมถึงเส้นจอมสอม มุกตินาท ซึ่งอยู่ในเขตการดูแลของ ACAP เช่นกัน เขตนี้จะมีความเจริญมากกว่า ทีเฮาส์ จะดูหรูหราหมาเห่ามากว่า เนื่องจากเส้นทางนี้เป็นหมู่บ้าน ที่มีวัฒนธรรมที่ดั้งเดิม ที่อยู่กันมานาน บางที่มีห้องน้ำในตัวได้ แต่อาหารและราคา บอกได้เลยว่าเหมือนกันทุกที่นะจ๊ะ ราคาของที่พักก็จะแตกต่างกันออกไป ตามความหรูหราของ ทีเฮาส์ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นฐานของราคากลาง นอกจากจะเป็นทีเฮาส์ ที่ยกระดับแบบมีดาว คือหนึ่งดาว สองดาวขึ้นมาบ้าง อันนี้ก็จะแพงหูดับตับไหม้มากกว่าโรงแรมในเมืองเสียอีก ในเขตการปกครองของ เอแคป ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งคือ มารดิหิมาล (Mardi Himal) สำหรับ ทีเฮาส์ ในเส้นทางนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับเส้นทางเอบีซี จะไม่มีห้องน้ำในตัวตลอดเส้นทาง

Teahouse เส้น อันนาปุระณเซอร์กิต
Teahouse ที่ โลแคมป์ เส้นมารดิหิมาล

หรือจะเป็นอีกเส้นทางที่คนไทยรู้จักกันดี และคนทั่วโลกส่วนใหญ่ มีความฝันจะมาเดินเส้นนี้กัน คือ เส้นเอเวอร์เรสเบสแคมป์ สำหรับเส้นทางนี้ ที่พักก็จะมีแบบหรูหราหมาเห่ากันตั้งแต่หมู่บ้านลูกลา ที่ลงเครื่องบินกันมาเลยทีเดียว แต่ทีเฮาส์ที่หรูหราเหล่าหนี้ จะมีไปจนถึงหมู่บ้านนัมเช ซึ่งบางทีเฮาส์ มีห้องน้ำในตัว เห็นวิวหิมาลัยแบบอลังการ ราคาเริ่มต้น ก็สวยและรวยมาก ตั้งแต่ 120$-250$ ต่อคืนกันเลยทีเดียว หลังจากหมู่บ้านนัมเช ไปแล้ว ก็ตัวใครตัวมัน ทีเฮาส์ ก็จะเป็นแบบธรรมดาบนเขาทั่วไป นอนได้ก็นอนนะคะ

Teahouse at Gokyo Lake in Everest trekking
Teahouse in Namchae Bazaa in Everest trekking

ในทีเฮาส์มีอะไรบ้าง


1. ห้องนอน

สำหรับห้องนอนนั้น จะมีห้องแบบเตียงเดี่ยว เตียงคู่ เตียง สาม สี่ หรือบางห้องมีถึงแปดเตียงก็มี เหมาะสำหรับ กรุ๊ปใหญ่ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมี เตียงคู่ และเตียงสาม มากกว่า เตียงจะปูด้วยผ้าปูที่นอน มีหมอนให้หนึ่งใบ มีผ้าห่มแบบเนปาลหนึ่งผืน คือหนามาก อย่าได้คิดห่มผ้าสองผืน เพราะหนักมาก ตกดึกถ้านอนฝันร้าย วิ่งหนีผี หรือวิ่งหนีโจร อาจวิ่งไม่ออกได้ เป็นที่มาของผีผ้าห่มนั่นเอง ผ้าปูที่นอนและผ้าห่มไม่ได้ซักทุกวัน บางที่อาจมีกลิ่นหอมรัญจวนใจบ้าง ดังนั้น แนะนำให้มีถุงนอนไปด้วยจะดีมาก พูดถึงถุงนอน หรือฉันมักจะเรียกว่าโสนน้อยเรือนงาม เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเดินป่าในประเทศเนปาลเลยทีเดียว เพราะทุกเส้นทางอากาศจะหนาวมาก ถุงนอนจะช่วยกันหนาวได้ดี อย่างที่สองคือ ป้องกันกลิ่นผ้าห่ม และกลิ่นที่นอนอันไม่พึงประสงค์ได้ แต่ถุงนอนนั้นต้องเป็นถุงนอนส่วนตัวของเราเอง ถ้าเป็นถุงนอนที่เช่ามานั่นก็จะนำมาเรื่องของกลิ่นถุงนอน ตีกันกับกลิ่นของผ้าห่ม อีกทีหนึ่ง อันนี้จิตนาการเอาเองเลยจ๊ะ

Bed room in teahouse

บางคนถามว่า มีผ้าห่มให้แล้วถุงนอนไม่จำเป็นก็ได้มั้งคะ? สำหรับบางคนทนอากาศหนาวได้ดี ทนได้ทุกกลิ่น หัวถึงหมอนหลับเป็นตาย บางเส้นทางผ้าห่มของทีเฮาส์ ก็เอาอยู่นอนหลับสบายได้เช่นกัน แต่ในบางสถานที่ยังไปไม่ถึงเตียงเลย แค่เปิดห้องเข้ามาก็มีกลิ่นแล้ว เพราะฉะนั้นคติประจำใจเวลามาเดินเทรกที่เนปาล คือ กินง่าย นอนง่าย ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนสำหรับชีวิตบนเขา อย่าคาดหวังกับชีวิตในการเดินทาง ปล่อยวางปล่อยใจไปกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มี สิ่งที่คุณเจอเหล่านี้ มันจะเป็นความทรงจำที่คุณจำได้ไปตลอดชีวิต จนเถ้าจนแก่ ยังเล่าให้ลูกหลานฟังได้แม่นเป๊ะเหมือนเพิ่งมาเดินเมื่อวาน เพราะนอกจากความลำบากจากการเดินในแต่ละวันแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ในการหลับนอนก็ทรมานไม่แพ้กัน ไหนจะอาหารที่ต้องทานเพื่อให้ร่างกายอยู่รอด ที่รสชาติเมื่อทานเข้าไปแล้ว ก็คิดถึงอาจารย์ ยิ่งศักดิ์ “กินได้ก็กินนะคะ กินไม่ได้ก็ไม่ต้องกิน”


จากที่เขียนมา เหมือนการเดินเทรก ไม่มีอะไรดีเลย เราเสียเงินมาทำอะไรกัน การมาเดินเทรกไม่ใช่สิ่งเลวร้ายของชีวิต การเดินเทรกเหมือนทำให้เรารู้จักชีวิตมากขึ้น เคยได้ยินคำว่า ชีวิตมีขึ้นมีลงไหมคะ นั่นแหล่ะ เดินเทรกที่นี่คือขึ้นลงทุกวัน บางวันขึ้นลงภูเขามากกว่าสามลูก คำว่าชีวิตมีสุขก็มีทุกข์ ทุกข์เมื่อต้องเดินขึ้นเขาและเหนื่อยยาก ทุกข์เมื่อไม่สบายระหว่างการเดินทาง ทุกข์เมื่อต้องนอนและกินในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันเราก็เจอความสุข สุขที่ได้เห็นวิวธรรมชาติที่อลังการไม่เคยเห็นมาก่อน สุขที่ภูมิใจที่เรามาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร สุขที่เจอผู้คนระหว่างทาง ทั้งเพื่อนร่วมทาง ทั้งชาวบ้าน วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากที่เราเป็นอยู่ สุขที่ปอดเราได้สูดอากาศดี ๆ และหัวใจได้รับรู้ถึงความเป็นมิตรและน้ำใจ ในระหว่างการเดินทาง ความรู้สึกเหล่านี้ มันถ่ายทอดออกมาได้ไม่หมด ทางเดียวที่จะรู้ได้คือ ต้องมาลองด้วยตัวเอง


กลับเข้ามาสู่ทีเฮาส์ของเรา ทีเฮาส์บางที่ ตั้งอยู่บนที่ ที่สวยงาม มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นหิมาลัยใหญ่อลังการ ที่ไม่เคยมีที่หน้าต่างบ้านเรา ตื่นมาตอนเช้าก็เต็มหน้าต่างไปหมด ทีเฮาส์บางที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมที่น่าค้นหา มีวัดอายุเป็นร้อยปี มีน้ำตก มีภูเขาล้อมรอบ มีชาวบ้านที่แต่งตัวตามแบบวัฒนธรรมของตัวเอง หรือถ้าเป็นคนชอบเผือกหน่อย พูดคุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง เราก็จะได้รับรู้เรื่องราวความเป็นอยู่ ในอีกแบบที่เราเคยไม่รู้จัก

ทีเฮาส์ ที่หมู่บ้านดัมปุด จุดเริ่มต้นของเส้นทางมารดิ หิมาลเทรก

ทีเฮาส์ บางที่ ทำอาหารบางชนิดอร่อยมาก และเป็นเมนู ที่ไม่คิดว่าจะกินได้ อย่าง ข้าวผัดชีส ที่เสิร์ฟมาแบบไม่เห็นข้าวผัดเห็นแต่ชีสกลบเต็มจาน หรือ ไข่เจียวชีส สงสัยอยู่เหมือนกันว่า มันกินได้จริงหรือ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า มันไม่ได้อร่อยทุกที่นะจ๊ะ หรือจะลอง จามรีซิสเลอร์ ซึ่งบางทีเฮาส์ก็แข็งมากจนฟันแทบหลุด แต่บางที่ก็เนื้อนุ่มหอมอร่อย จนอยากจะนอนที่นี่ต่ออีกซักคืน หรืออาหารพื้นเมืองบางอย่าง ชื่อเหมือนกัน แต่ไปเดินเทรก คนละเส้นทาง หน้าตาอาหารก็จะแตกต่างกัน เช่น ขนมปังทิเบต (Tibet Bread) รสชาติจะคล้ายกับปาท่องโก๋บ้านเรา เป็นวงกลมชิ้นใหญ่บางที่ก็จะทำเป็นเกลียวบ้าง ถ้าในเขตอันนาปุรณะ ก็จะเป็นเหมือนปาท่องโก๋ฟูๆ นี่แหล่ะ กินกับน้ำชากาแฟในตอนเช้าอร่อยนักเชียว แต่ถ้าไปเดินในเขตลังตัง หรือทะเลสาบโกไซกุนดา เมนูนี้ จะมีหน้าตาเปลี่ยนไป จะเป็นเหมือนโรตี จะปาตี เป็นแผ่นกลม ๆ แห้ง ๆ กินแล้วฝืดคอมาก ไร้ซึ่งรสชาติ ตอนที่ฉันสั่งไปตอนแรก ก็คิดว่าเค้าทำมาผิด พอไปพักอีกที่หนึ่งก็ลองสั่งอีกครั้ง มันมาแบบเดียวกันเลย เอ่อ!!! ฉันได้ตรัสรู้แล้วว่า ขนมปังทิเบต ของที่นี่มันเป็นแบบนี้เอง อย่าได้ไปเผลอสั่งอีกหล่ะ มันไม่ใช่ปาท่องโก๋ที่เธอต้องการอีกต่อไป

Tibet Bread in Annapurna Base Camp

2. ห้องอาบน้ำ และ ห้องสุขา

ห้องอาบน้ำและห้องสุขา ส่วนใหญ่จะเป็นแบบห้องน้ำรวม จะแยกออกจากห้องนอน ห้องอาบน้ำและห้องสุขาก็แยกจากกันเช่นกัน สำหรับการอาบน้ำบนเขา จะมีอาบน้ำเย็นและน้ำร้อน ถ้าเราต้องการอาบน้ำร้อน เราต้องเสียเงินค่าน้ำร้อน ราคาก็เริ่มต้นตั้งแต่ 1$ เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นจากแก๊ส และบางที่ก็ทำจากแผงโซล่าเซลล์ บางครั้งจ่ายเงินไปแล้ว อาบน้ำอยู่น้ำร้อนในถังหมดอุ่นไม่ทันให้เราอาบ กลายเป็นอาบน้ำเย็นแทน กัดฟันและอดทนสู้กับน้ำเย็นเพื่อให้สบู่หมดจากตัว บึ๋ย!!!! ทางที่ดีไม่อาบน้ำเป็นดีที่สุด และถ้าอาบน้ำเย็น ไม่ต้องเสียเงิน ยกเว้นในบางพื้นที่ในเขตเอเวอร์เรส ที่สูงขึ้นไปเนื่องจากขาดแคลนน้ำ ถ้าต้องการอาบน้ำ แม้แต่น้ำเย็นก็ต้องเสียเงิน ซึ่งคิดราคาเป็นถัง ราคาตั้งแต่ถังละ 3$/ถัง ส่วนห้องสุขานั้น บางที่จะเป็นแบบคอห่าน และบางที่เป็นแบบชักโครก หรือในบางที่ ก็เป็นแบบระทึกใจน่าใช้หน่อย คือ เป็นแค่ไม้สองแผ่นให้เหยียบ ยืน หรือนั่งยอง ๆ และมีรูตรงกลาง ไม่ต้องราดน้ำ ทำธุระเสร็จก็ใช้กระดาษเช็ดชู่เช็ด ส้วมแบบนี้มีอยู่จริงที่ไฮแคมป์ ในเส้นทางอันนาปุรณะเซอร์กิต ส่วนห้องอาบน้ำของที่นี่นั้น ไม่ต้องถามถึงค่ะ แค่น้ำที่จะใช้ล้างหน้าแปลงฟัน ก็ยากพอแรง


3. การซักผ้า

เนื่องจากการเดินเทรกต้องใช้เวลาหลายวัน กับจำนวนน้ำหนักที่จำกัด ที่ลูกหาบสามารถแบกได้ ทำให้เสื้อผ้าที่ใส่ไม่พอ เมื่อไปถึงที่พักแล้วให้รีบซักผ้าก่อนสิ่งอื่นใด ทีเฮาส์ส่วนใหญ่จะมีที่ให้ตากผ้าพร้อมไม้หนีบผ้า แต่เราต้องนำผงซักฟอกไปเอง เราสามารถนำผ้าไปตากในห้องอาหาร ที่มีเตาผิง โดยทีเฮาส์ จะทำที่ตากผ้าไว้ให้ด้วย แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรซัก เนื่องจากอากาศหนาว เสื้อผ้าจะแห้งยาก และไม่ควรนำผ้าออกไปตากนอกอาคาร เนื่องจากอุณภูมิบนเขาจะติดลบในตอนกลางคืน จะทำให้เสื้อผ้าเป็นน้ำแข็งได้ อิฉันเคยลองมาแล้ว ตอนบ่ายแดดดีซักผ้าตากลมเย็น ๆ พรุ่งนี้มาผ้าคงแห้ง แห้งจริงค่ะ แห้งแบบหุ้มไปด้วยน้ำแข็งกางเกงตั้งได้


4. เตาผิง

ทีเฮาส์ จะมีเตาผิงเฉพาะในห้องอาหารเท่านั้น เชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นอุจาระ หรือขี้ที่ตากแห้ง ของจามรี วัว ควาย ที่เลี้ยงในท้องถิ่นนั้น ๆ อย่าคิดว่าห้องอาหารคงหอมอบอวลไปด้วยขี้ของสัตว์เหล่านี้ ตอบได้เลยค่ะ ขี้ตากแห้งเหล่านี้ไม่มีกลิ่นใด ๆ ห้องอาหารเป็นห้องที่นักท่องเที่ยว จะมานั่งผิงไฟรวมกัน รวมทั้งนำเสื้อผ้าที่ซัก ที่เปียก มาตากในห้องนี้เช่นกัน เราจะได้เห็นภาพ ทั้งชุดชั้นใน ถุงเท้า เสื้อกางเกง รองเท้า ตากเรียงรายกันอยู่รอบเตาผิง


5. ห้องอาหาร

ห้องอาหารจะเป็นห้องที่นักเดินป่ามาทำกิจกรรมร่วมกัน เนื่องจากห้องนอนเป็นห้องที่เล็กมาก นอกจากนั้นห้องอาหารยังมีเตาผิงซึ่งเป็นห้องที่อบอุ่น นักเดินทางบางคนจะนั่งอยู่ในห้องนี้จนถึงเวลาเข้านอนก็มี บางคน นั่งอ่านหนังสือ บางกลุ่มนั่งเล่นไพ่ เล่นเกมส์ บางกลุ่มนั่งคุยกันถึงการเดินทางที่ผ่านมา เมื่อเดินทางมาถึงที่พักหลังจากพักให้หายเหนื่อยแล้ว คุณจะต้องสั่งอาหารล่วงหน้า และบอกเวลาทานอาหารให้แน่นอน เนื่องจากทีเฮาส์เหล่านี้จะทำอาหารช้ามาก ซึ่งในบางครั้งอาจต้องรอถึงสองชั่วโมง และอาหารเช้าต้องสั่งหลังจากทานอาหารเย็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกำหนดเวลาอาหารเช้า เนื่องจากบนเขามีอากาศหนาว คุณจะได้ทานอาหารร้อน ๆ นั่นเอง


6. อาหารของทีเฮาส์

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เราพักที่ไหนต้องทานอาหารที่นั่นนี่เป็นกฎของที่พักบนภูเขา และบางทีเฮาส์ไม่อนุญาต ให้นำอาหารของเรามารับประทาน โดยที่ไม่สั่งอาหารของทีเฮาส์เลย และในบางเส้นทาง จะไม่มีเนื้อสัตว์ขาย เช่น ในเส้นทางอันนาปุรณะเบสแคมป์ ตั้งแต่หมู่บ้านชินุวา ไปแล้วจะไม่มีเนื้อสัตว์ขายเนื่องจากเป็นเขตโฮลี เป็นต้น


อาหารเช้า

สำหรับเมนูอาหารเช้าส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารเช้าแบบฝรั่งมากกว่า และทำเป็นออฟชั่นต่าง ๆ เช่น ชุด ขนมปังปิ้ง ไข่ (ไข่ต้ม,ไข่ดาว,ไข่เจียว,ไข่คน อย่างไดอย่างหนึ่ง) น้ำชาหรือกาแฟ น้ำผลไม้ ผัดมันฝรั่ง ไส้กรอก นี่ถือเป็นชุดใหญ่สุด ซึ่งชุดนี้ตกราคาประมาณ 6$ หรือถ้าไม่ชอบแบบเป็นชุด เราอาจสั่งแค่อย่างใด อย่างหนึ่งก็ได้ เช่น กาแฟกับแพนเค้ก หรือข้าวโอ๊ตใส่นม เป็นต้น อาหารเช้าส่วนใหญ่จะไม่มีข้าว ถ้าต้องการเมนูข้าว ต้องสอบถามหรือให้ทำเป็นพิเศษ


อาหารกลางวัน

อาหารกลางวันของทีเฮาส์ จะเป็นอาหารทั่วไป ทั้งอาหารพื้นเมือง เช่น ดาล บาต เป็นชุด แบบผัก หรือแบบแกงไก่ อาหารเป็นชุดแบบพื้นเมืองนี้ จะเติมได้ตลอดจนเราอิ่ม ยกเว้นแกงไก่ที่ไม่เติม ที่เรียกเป็นชุดเนื่องจาก ประกอบไปด้วย ข้าว ซุปถั่ว ผัดผัก น้ำพริก ข้าวเกรียบทอด เป็นต้น ซึ่งต่อชุดเริ่มต้นตั้งแต่ 6$ ขึ้นไป หรือจะเป็นอาหารแบบทิเบต เช่น ก๋วยเตี๋ยวแบบทิเบต หรืออาหารฝรั่งเช่น แซนวิส เบอร์เกอร์ สปาเก็ตตี้ก็มี อาหารเหล่านี้ราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 4-5$ ขึ้นไป และราคาของ น้ำชากาแฟ ต่อแก้วประมาณ 1$ ขึ้นไป


อาหารเย็น

เมนูอาหารเย็นก็จะเหมือนเมนูอาหารเที่ยงทั่วไป ซึ่งราคาของอาหารในทีเฮาส์ จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น


7. น้ำ

สำหรับน้ำที่ใช้ในห้องน้ำทั่วไป ทีเฮาส์ จะมีให้เราอยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่ในช่วงที่เป็นฤดูกาลเดินเทรก มีนักเดินทางเยอะ ในบางพื้นที่น้ำอาจไม่พอใช้ ห้องสุขาอาจเต็มไปด้วยสีทอง อันนี้ต้องทำใจสำหรับนักเดินทาง ส่วนน้ำดื่ม เราไม่แนะนำให้ดื่มน้ำโดยตรงจากก๊อกน้ำของหมู่บ้าน หรือจากน้ำบนเขา เป็นไปได้ให้พกที่กรองน้ำขนาดเล็ก หรือซื้อน้ำต้มหรือกรองแล้วจากทีเฮาส์ดื่ม ในบางพื้นที่ เช่น อันนาปุรณะเบสแคมป์ (Annapurna Base Camp or ABC) ตั้งแต่แต่หมู่บ้าน โกเรปานี เป็นต้นไป จะเป็นเขตปลอดพาสติก ไม่มีน้ำขวดแบบขวดโพลาลิสขาย เราต้องซื้อน้ำต้มหรือน้ำกรองดื่ม โดยมีขวดมาเอง ส่วนเขตอื่น ๆ ทั่วไป เช่น อันนาปุรณะเซอร์กิต มนัสลู เอเวอร์เรส จะมีน้ำขวดขายทั่วไป ซึ่งราคาของน้ำจะเริ่มต้น ที่ 1$ และจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับความสูงที่สูงขึ้น แต่เพื่อไม่เพิ่มขยะให้กับสิ่งแวดล้อมบนภูเขา การไม่ซื้อน้ำขวดดื่ม จะช่วยลดขยะลงได้เยอะเช่นกัน


8. ไฟฟ้า

ไฟฟ้าของทีเฮาส์ ส่วนใหญ่จะมาจาก แผงโซลาเซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ ขึ้นอยู่กับว่าคุณไปเดินป่าในเส้นทางไหน ในห้องนอนของทีเฮาส์ มีไฟกลางห้อง 1 ดวง ถ้าทีเฮาส์ ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเปิดใช้ได้ตลอดทั้งคืน เป็นไฟที่จ่ายมาจากรัฐบาล แต่ถ้าเป็นทีเฮาส์ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในบางจุด จะเป็นไฟที่ใช้จากโซลาเซลล์ ไฟจะมีการเปิดปิดเป็นเวลา และในบางพื้นที่ก็ไม่มีไฟให้เลย ในตลอดการเดินทางเราจะเจอทั้งสามแบบ ดังนั้นไฟฉายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพกติดตัวมาด้วย ในทีเฮาส์ไม่มีปลั๊กไฟให้ชาร์จ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ยกเว้นเส้นอันนาปุรณะเซอร์กิต จะมีปลั๊กไฟให้ชาร์จในห้องนอนฟรี จนถึงหมู่บ้านมนัง ส่วนเส้นทางอื่น ๆ ถ้าต้องการชาร์จแบตเตอร์รี่ เราต้องจ่ายเงิน ซึ่งคิดเป็น ราคาเริ่มต้น ตั้งแต่ 1$ ต่อ 1 เครื่อง ราคาค่าชาร์จจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสูงของพื้นที่ ที่ทีเฮาส์ นั้น ๆ ตั้งอยู่


9. ไวไฟ และ ซิมการ์ด

ไวไฟ มีให้บริการในหลาย ๆ ที่ในขณะที่เดินป่า เช่นในเขตเอเวอร์เรส คุณจะสามารถใช้อินเทอร์เนตของ เอเวอร์เรสลิงค์ (Everest Link) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายนั้นอยู่กับจำนวนดาต้าที่คุณต้องใช้ ในเขต อันนาปุรณะเบสแคมป์ (Annapurna Base Camp) ไวไฟราคาเริ่มต้นที่ 3$ แต่จะไม่มีในทุกหมู่บ้าน หรือเส้น อันนาปุรณะเซอร์กิต มีไวไฟและสัญญาณโทรศัพท์ ในทุกหมู่บ้าน แต่จะมีไปจนถึงหมู่บ้านมนัง และจะมีอีกทีที่หมู่บ้านมุกตินาท สำหรับเส้นทางเดินป่าอื่น ๆ เช่น เขตลังตัง มนัสลู หรือที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ไวไฟ และสัญญาณโทรศัพท์ จะมีน้อยมาก

รู้จักทีเฮาส์ กันแล้ว ก็เตรียมตัวเตรียมใจกับการผจญภัย ในการมาเดินป่าได้ดียิ่งขึ้นนะคะ ถ้าชอบบทความดี ๆ ของเรา กดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน และประโยชน์ ต่อผู้อ่านด้วยค่ะ

ดู 596 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page