top of page
รูปภาพนักเขียนThai Nepal Travels & Trek

Trekking permit in Nepal

อัปเดตเมื่อ 19 ส.ค. 2562

Trekking permit คืออะไร? จำเป็นต้องมีหรือไม่?

Trekker's Information Management System (TIMS)

สำหรับใครที่หลงเข้าสู่วังวนของการเดินป่าในประเทศเนปาล ที่มาเดินวนแล้ววนเล่าเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อย ๆ เหมือนเสพติดการเดินป่า จะรู้จัก เทรกกิ้งเพอร์มิท กันเป็นอย่างดี แต่สำหรับมือใหม่หัดขับ เอ้ยไม่ใช่ มือใหม่หัดเดิน บทความนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อนักเดินทางหลาย ๆ ท่าน สำหรับใบอนุญาต ในที่นี้จะเป็นใบอนุญาตสำหรับเดินป่านะคะ ไม่ใช่ใบอนุญาตในการปีนเขา ซึ่งสำหรับท่านที่มาปีนเขา ก็ต้องมีทั้งใบอนุญาตเดินป่า และใบอนุญาตปีนเขาควบคู่กันไปด้วย


Trekking permit คือ ใบอนุญาตเดินป่า ในประเทศเนปาล ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามเส้นทางและพื้นที่ ที่เราไปเดิน โดยใบอนุญาตที่แบ่งตามเขต จะมีสองแบบ คือ

  1. ใบอนุญาต ธรรมดาทั่วไปที่สามารถขอได้ทั่วไปไม่มีข้อจำกัดอะไร และ

  2. ใบอนุญาตเขตพิเศษ ซึ่งใบอนุญาต ชนิดนี้ จะต้องออกเป็นกลุ่มคือ มีนักเดินทางสองท่านขึ้นไป และต้องมีไกด์ รวมทั้งมีค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตที่จำกัดเป็นจำนวนวัน หรือเป็นอาทิตย์ ถ้าอยู่เกินจากที่กำหนด ก็จะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม

แต่ก่อนอื่น เรามาดูใบอนุญาตแบบพื้นฐานทั่วไป ที่บังคับให้ต้องมีเกือบทุกเขต กันก่อนนะคะ คือ ทิมการ์ด (TIMS card ย่อมาจาก Trekkers’ Information Management Systems เป็นใบอนุญาตพื้นฐานทั่วไปที่ทุกเขตต้องมี ยกเว้นเขตพิเศษบางเขต และเส้นเอเวอเรสต์เบสแคมป์ รวมทั้งเอเวอรเรสต์ 3 พาส ตอนนี้ไม่ต้องทำใบอนุญาต ชนิดนี้แล้วนะคะ ทิมการ์ด มีความสำคัญอย่างไร? จำเป็นต้องมีหรือไม่? คำตอบคือ นักเดินทางที่มาเดินป่าในประเทศเนปาลจำเป็นต้องมีทิมการ์ด ในเส้นทางที่กำหนดให้ต้องมีนะคะ


ความสำคัญของ ทิมการ์ด: ทิมการ์ด เป็นระบบการจัดการข้อมูลของผู้ที่มาเดินป่าในประเทศเนปาล เริ่มใช้งานครั้งแรกเมื่อ วันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 2008 ภายใต้การดูแลของ สมาคมตัวแทนการเดินป่าแห่งเนปาล (TAAN) และคณะกรรมการ การท่องเที่ยวเนปาล (NTB) ทิมการ์ด ออกแบบเพื่อรับประกันความปลอดภัย และตรวจเช็คความปลอดภัยของนักเดินป่า ควบคุมการเดินป่าแบบผิดกฎหมายในประเทศเนปาล รวมทั้งดูแลควบคุมไกด์และลูกหาบเถื่อนที่ผิดกฎหมาย และดูแลความปลอดภัยของไกด์และลูกหาบด้วยค่ะ โดยตลอดเส้นทางการเดินป่า จะมีจุดตรวจทิมการ์ด ลงเวลา วัน เดือน ปี ที่นักเดินทางเดินเข้าสู่เขตเดินป่าไปตลอดจนสิ้นสุดการเดินทาง ดูแล้วอุ่นใจดี ฐานข้อมูลเหล่านี้ ช่วยในการตรวจสอบสถานะของนักเดินทางว่าเดินทางถึงจุดไหนแล้ว เมื่อเกิดการเจ็บป่วยหรือหายไป สามารถติดตามได้ หายไปจากบริเวณไหน ลงทะเบียนตรวจเช็คครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เป็นต้น เพระฉนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเมื่อมาเดินป่า ทิมการ์ดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งนะคะ


ทิมการ์ด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท:

1. ทิมการ์ดที่ขออนุญาต โดยผู้เดินทางเป็นผู้ทำเรื่องขอเอง ทิมการ์ดชนิดนี้จะมีสีเขียว Free Individual Trekker (FIT)


ข้อกำหนดของทิมชนิดนี้ ผู้เดินทางต้องแบกของเอง ไม่สามารถมีไกด์และลูกหาบได้ ผู้เดินทางต้องรับผิดชอบ เหตุการณ์ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง สำหรับใบอนุญาตชนิดนี้ ให้ผู้เดินทางระมัดระวังด้วยนะคะ ดังที่กล่าวไว้ว่า ไม่สามารถจ้างลูกหาบและไกด์ได้ หากท่านไปจ้างลูกหาบ เมื่อเดินทางไปถึงจุดตรวจเจ้าหน้าที่จะไล่ลูกหาบหรือไกด์กลับโดยทันที แต่ถ้าแอบเดินกันตรวจไม่เจอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ระหว่างทาง เช่น ไกด์หรือลูกหาบไม่สบาย เกิดอุบัติเหตุ เกิดการทำร้ายกัน หรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดระหว่างทาง ผู้เดินทางต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด หมายเหตุ สำหรับเส้นทางเอเวอเรสต์ ไม่ต้องทำทิมการ์ด เราสามารถจ้างลูกหาบและไกด์ทั่วไปได้เอง แต่ควรระวังระวังไกด์และลูกหาบเถื่อนกันด้วยนะคะ


2. ทิมการ์ดที่ขออนุญาต โดยบริษัททัวร์ในประเทศเนปาล ทิมการ์ด ชนิดนี้จะมีสีฟ้า Group Trekker (GT)


ข้อกำหนดนี้คือ ผู้เดินทางจ้างไกด์ และ/หรือ ลูกหาบ จากบริษัททัวร์ รวมทั้งการบริการอื่น ๆ ใบสีฟ้านี้มีประกันชีวิตของลูกหาบและไกด์ ระหว่างบริษัททัวร์และรัฐบาลคนละครึ่ง ถ้าระหว่างการเดินทาง ไกด์หรือลูกหาบไม่สบาย ถึงแก่ชีวิต หรือเกิดอุบัติเหตุ รัฐบาลและบริษัททัวร์ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น


หรือเกิดเหตุการณ์ ทำมิดีมิร้าย ต่อนักเดินทางของไกด์หรือลูกหาบ บริษัททัวร์ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น เป็นต้น ถ้าเราไม่ได้จ้างไกด์หรือลูกหาบจากบริษัททัวร์ บริษัทก็ไม่สามารถ ออกใบอนุญาตชนิดนี้ให้ได้นะคะ


ค่าธรรมเนียมของทิมการ์ด

*สำหรับนักการทูตจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม*

ค่าธรรมเนียมก็จะแตกต่างกันไปตามกลุ่มของบัตรดังนี้:

1. ค่าธรรมเนียม 2,000 เนปาลรูปี ของบัตรสีเขียว (FIT) ต่อเส้นทางเดินป่าต่อคนต่อรายการ

2. ค่าธรรมเนียม 1,000 เนปาลรูปี ของบัตรสีฟ้า (GT) ต่อเส้นทางเดินป่าต่อคนต่อรายการ


สำหรับประเทศ SAARC (คือประเทศในกลุ่มเอเชียใต้) จะมีอัตราค่าบริการที่แตกต่างกัน ดังนี้:

1. ค่าธรรมเนียม 600 เนปาลรูปี ของบัตรสีเขียว (FIT) ต่อเส้นทางเดินป่าต่อคนต่อรายการ

2. ค่าธรรมเนียม 300 เนปาลรูปี ของบัตรสีฟ้า (GT) ต่อเส้นทางเดินป่าต่อคนต่อรายการ

ทิมการ์ดนั้นไม่สามารถถ่ายโอนและไม่สามารถสลักหลังได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้กับหนึ่งรายการและเฉพาะในพื้นที่เดินป่าที่กำหนด และในช่วงระยะเวลาที่ระบุโดยที่ผู้สมัครได้เขียนไว้ในใบสมัครเท่านั้น

เอกสารที่ต้องการในการขอทิมการ์ด

1. สำเนาหนังสือเดินทาง

2. รูปถ่ายขนาด 1-2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

3. ค่าธรรมเนียม ตามชนิดของทิมการ์ดที่ต้องการขอ


ข้อมูลที่ต้องกรอกลงในเอกสารเมื่อยื่นขอทิมการ์ด

1. วันที่เข้าและออกสำหรับการเดินป่า คุณอาจให้ข้อมูลคร่าวๆ

2. จุดเข้าและออกสำหรับการเดินป่า

3. เส้นทางเดินป่าเช่นเดียวกับการเดินทาง

4. ข้อมูลการติดต่อในกรณีฉุกเฉินในประเทศเนปาล หากคุณมี บริษัท ตัวแทนท่องเที่ยวคุณอาจให้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน

5. ข้อมูลติดต่อฉุกเฉินในประเทศบ้านเกิดของคุณ

6. หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัยรวมถึงข้อมูลติดต่อและคำแถลงความคุ้มครองกรมธรรม์ของคุณ


สามารถขอทิมการ์ด ได้ที่ไหน?

1. ที่สำนักงานคณะกรรมการการท่องเที่ยวเนปาล (NTB) ตั้งอยู่ในกาฐมาณฑุและโปขระ

2. TAAN Secretariat ตั้งอยู่ที่ Maligaon และ

3. TAAN ที่เมืองโปขระ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ TAAN

สำหรับนักเดินป่าที่ใช้บริการบริษัททัวร์ บริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการต่าง ๆ ให้ทั้งหมด ซึ่งผู้เดินทางสามารถส่งเอการให้บริษัทดำเนินการก่อนออกเดินทางล่วงหน้าได้


เวลาทำการ

1. TIMS counter ที่ TAAN Secretariat ทำตามเวลาทำงานปกติ (10.00 น. - 17.00 น.) และในช่วงฤดูหนาว (01 พฤศจิกายน - 31 มกราคม) จะเปิดตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 16.00 น. ปิดในวันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์


2. TIMS Counter ที่ Saatghumti, Thamel เปิดทำการเวลา 7 โมงเช้าและปิดเวลา 18.00 น. อย่างไรก็ตามในวันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เคาน์เตอร์จะเปิดตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 13.00 น.


3. คณะกรรมการการท่องเที่ยวเนปาล (NTB) ทำตามเวลาทำงานของรัฐบาลคือ 10 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น อย่างไรก็ตามจะปิดในวันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

จบไปสำหรับเรื่องของ ใบอนุญาต ทิมการ์ด ที่ทุกท่านต้องมี


เรามาต่อกันที่ ใบอนุญาตการเดินป่าในแต่ละเขต ซึ่งก็จะมีชื่อที่แตกต่างกันไป แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ใบอนุญาต แบบธรรมดาทั่วไป แบ่งตามพื้นที่การเดินป่าเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ตามตารางด้านล่าง



ตัวอย่างใบอนุญาต เขต GCAP (Gaurishankar Conservation Area)


ตัวอย่างใบอนุญาต เขต ACAP (Annapurna Conservation Area)


ตัวอย่างในอนุญาติ การเข้าอุทยาน National Park สำหรับใบนี้เป็นเขตลังตัง (Langtang) สังเกตได้จากตราประทับข้างล่างรูปสีแดง เป็นเขต Dhunche

เมื่อแบ่งตามเขตแล้วมีใบอนุญาต เยอะแยะไปหมด นี่ยังไม่หมดนะคะ เป็นแค่ใบอนุญาต ธรรมดา แต่ถ้าเราต้องเดินเข้าสู่ "เขตพิเศษ" หรือเขตควบคุมของเนปาล หมายถึงเขตที่ต้องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรมของเขตนั้น ๆ ไม่ให้ถูกบุกรุกมากเกินไป


2. ใบอนุญาตสำหรับเขตพิเศษ ใบอนุญาตชนิดนี้จะมีความยุ่งยากกว่าใบอนุญาตธรรมดา โดยมีข้อจำกัดดังต่อไปนี้

1. ต้องมีผู้ร่วมเดินทางอย่างน้อย 2 ท่าน ขึ้นไป

2. ต้องมีไกด์ นำทาง

3. ต้องมีพาสปอร์ตตัวจริงและวีซ่าในการขอใบอนุญาต

4. ต้องยื่นโดยผ่านตัวกลางที่เป็นบริษัททัวร์ในการเดินป่าเท่านั้น

5. ค่าธรรมเนียมการเดินป่าต้องจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาห์ สหรัฐเท่านั้น


ตัวอย่างใบอนุญาต เขตมนังสลู

ใบอนุญาตเขตพิเศษมีรายการดังตารางด้านล่าง




อ้างอิงข้อมูลจาก Trekking agencies association of Nepal

ที่แสดงมาทั้งหมดเป็นใบอนุญาตในการเดินป่าเท่านั้นนะคะ ไม่มีใบอนุญาตปีนเขา ใครที่ต้องการปีนเขา ต้องขอใบอนุญาตปีนเขาเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าต้องการไปปีนเขาลูกไหนอยู่ในเขตใด เพราะฉนั้นถ้ามาเดินป่าในประเทศเนปาล หลังจากเลือกเส้นทางแล้วก็เลือกใบอนุญาตเดินป่าให้ถูกต้องด้วยนะคะ







ติดตามข่าวสารเรื่องราวดี ๆ ของเราได้ใน Line@ เช่นกัน @thainepaltravels








ดู 990 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page