top of page
รูปภาพนักเขียนThai Nepal Travels & Trek

แผนที่ใหม่ของเนปาล กับความอิสระในการตัดสินใจทางการเมือง

รัฐสภาเนปาล ได้ลงมติผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศเนปาล ให้รวมแผนที่ใหม่เข้าไปด้วย

Nepal new map, Credit photo: myRepublica

เมื่อวันเสาร์ ที่ 13 มิถุนายน 2020 โดยในแผนที่นั้นได้รวมเอาดินแดน ลิปูเลกห์, กาลาปานี และลิมปิยาดูระ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของเนปาล สร้างความยินดีให้กับประชาชนชาวเนปาลเป็นอย่างมาก ที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างเนปาล แสดงความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และเชื่อมั่นในพลังของการอยู่ร่วมกับความจริง และอุดมการณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นคือเนปาลกล้าที่จะก้าวออกมาจากการควบคุมของอินเดียนั่นเอง เนปาลเป็นประเทศเล็ก ๆ อยู่ท่ามกลางสองประเทศใหญ่ อย่างจีนและอินเดีย ไม่ว่าจะทำอะไร มหาอำนาจทั้งสองประเทศนี้ จะมีบทบาทเป็นอย่างมาก ต่อการตัดสินใจของประเทศ เนปาล

การฉลองแผนที่ใหม่ photograph by: REUTERS/Navesh Chitrakar and Skanda Gautam

กรณีพิพาทของการแย่ง ดินแดน


กรณีพิพาทนี้เริ่มจาก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2019 รัฐบาลอินเดีย ได้ตีพิมพ์แผนที่การเมืองใหม่ของอินเดีย ซึ่งประกอบไปด้วยดินแดนที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็น 2 ดินแดนสหภาพ คือ จัมมูและแคชเมียร์ กับลาดักห์ โดยแผนที่ดังกล่าวได้รวมพื้นที่บางส่วนในบริเวณ 3 แห่ง คือ ช่องเขาลิปูเลกห์, กาลาปานี และลิมปิยาดูระ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของเนปาล เข้าไปด้วย ณ ตอนนั้น ทางฝั่งเนปาล ได้อ้างว่าเจ้าหน้าที่ของอินเดีย รุกล้ำ กาลาปานี ซึ่งเป็นเขตแดนของประเทศเนปาล และประชาชนชาวเนปาล ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเนปาล ออกมากดดันให้อินเดียแก้ไขแผนที่ แต่ยังไม่ทันไร หลังจากนั้นรัฐบาลอินเดียได้ตีพิมพ์แผนที่ใหม่ออกมาเป็นครั้งที่สองในเดือน พฤศจิกายน 2019 กระทรวงการต่างประเทศของประเทศเนปาล ได้เสนอให้มีการจัดการประชุมทวิภาคีระหว่างเลขานุการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ในฐานะตัวแทน ฝ่ายอินเดียยังไม่ตอบสนองและเป็นผลให้ไม่มีการหารือทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา

ดินแดนที่เป็นกรณีพิพาท credit photo: Nepali Times

จนทำให้ปัญหาที่พิพาทกันมานานของดินแดนนี้ได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่อินเดียเปิดตัวถนนผ่านดินแดนพิพาทนี้ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2020 ทำให้ประชาชนเนปาลไม่พอใจเป็นอย่างมาก เริ่มออกมาประท้วงและให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ทวงคืนดินแดนของเราคืนมา


ดินแดนที่พิพาทเป็นของใคร?

เป็นคำถามที่ตรงตัวที่สุด ทั้งสองประเทศที่แย่งกันไปแย่งกันมา ต้องมีเหตุผลและหลักฐานมาแสดงความเป็นเจ้าของ หลักฐานที่มีเพียงอย่างเดียว คือ สนธิสัญญาสุโกลี ที่เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1816 เป็นหลักฐานในการแบ่งแยกดินแดน ที่ตกลงกันระหว่างกองทัพของประเทศเนปาลในเวลานั้น กับ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (เป็นช่วงที่อินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) ในสนธิสัญญาดังกล่าวระบุชัดเจนว่าพื้นที่ทั้ง 3 แห่งเป็นของเนปาล โดยใช้แม่น้ำมหากาลี กำหนดให้เป็นพรมแดนตะวันตกระหว่างทั้งสองประเทศ ในเมื่อแม่น้ำกาลี เป็นตัวแบ่งแยกแล้ว ก็น่าจะจบแต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะทั้งสองประเทศ มีความสับสนในเรื่องของต้นกำเนิดของแม่น้ำมหากาลีนี้มาจากไหน?


มาที่ทางฝั่งเนปาลผู้เชี่ยวชาญทางฝั่งเนปาลกล่าวว่าต้นกำเนิดของแม่น้ำนี้มาจาก ลิมปิยาดูระ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของ กาลาปานี ประมาณ 30 กิโลเมตร แผนที่การเมืองที่ออกโดยอินเดียเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1856 ซึ่งสอดคล้องกับสนธิสัญญา สุโกลี ถือว่า ลิมปิยาดูระ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ เป็นที่ตั้งของสามหมู่บ้านนั่นคือ กุติ นาบิ และกันจิ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเนปาล โดยทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์ในหมู่บ้านเหล่านี้ ทางเนปาลอ้างว่า เขต ไบตาดิ ของเนปาลมีเอกสารอย่างเป็นทางการ ของรายได้ที่ดิน ที่รัฐบาลเนปาลรวบรวมมาจากหมู่บ้านจนถึงปี 1940 ซึ่งตรงกับเขตพรมแดนของแม่น้ำกาลี ที่เป็นแหล่งกำเนิดมาจากลิมปิยาดูระ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญา


ชาวเนปาลออกมาประท้วงแผนที่ของอินเดีย credit photo: BBC Thai

มาที่ทางฝั่งอินเดีย ได้กล่าวว่า ต้นกำเนิดแม่น้ำมหากาลี มาจาก ลิปุเลกห์ รัฐ ยูพี ในอินเดียก็มีเอกสารอย่างเป็นทางการของรายได้และการบริหารตามที่พื้นที่ กาลาปานี ได้รับการปกครองแบบดั้งเดิมเป็นอำเภอ พิทอรากาด ซึ่งหมู่บ้านทั้งหมดที่เนปาลกล่าวมาข้างต้น ก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ ประชาชนทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย และว่าเทคนิคการสำรวจทางภูมิศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้ต้องมีการเขียนแผนที่ขึ้นใหม่ แผนที่ใหม่ของอินเดียที่รวมทั้งสามดินแดนนี้เข้าด้วยกันเป็นแผนที่ ที่ปัจจุบัน และสมบูรณ์ที่สุด


สำหรับอินเดีย ช่องเขาลิปูเลกห์ มีความสำคัญในด้านความมั่นคง หลังจากเกิดสงครามในดินแดนพิพาทตามแนวชายแดนเทือกเขาหิมาลัยครั้งใหญ่กับจีนเมื่อปี 1962 อินเดียก็มีความกังวลว่าจีนอาจรุกรานประเทศของตนผ่านทางช่องเขาดังกล่าว และพยายามควบคุมเส้นทางสายยุทธศาสตร์แถบเทือกเขาหิมาลัยนี้ไว้ เพื่อป้องกันการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต


ต่างคนต่างไม่ยอมกัน ศึกแผนที่ของทั้งสองประเทศจึงเกิดขึ้น จนเมื่อเนปาลได้ออกแผนที่ใหม่ซึ่งเป็นครั้งที่สอง และรัฐสภาเนปาลได้โหวตให้มีการแก้ไขรัฐธรรนูญ โดยเพิ่มแผนที่ใหม่ เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศเนปาล เมื่อวันเสาร์ ที่ 13 มิถุนายน 2020 และที่สำคัญ ทางฝั่งอินเดียไม่ยอมที่จะเปิดการเจรจากับเนปาล ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลเนปาลพยายามที่เจรจาในเรื่องนี้

รัฐสภาของเนปาลโหวตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดนเพิ่มแผนที่ฉบับใหม่ credit photo: BIKRAM RAI, Nepali Times

อินเดียสำคัญต่อเนปาลอย่างไร?


ประชาชนเนปาลเฉลิมฉลอง การได้มาของแผนที่ใหม่นี้ นอกเหนือจากความดีใจที่ได้ดินแดนของตัวเองกลับคืนมา เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความกล้าที่ก้าวออกมาจากการควบคุมของประเทศอินเดีย จะให้พูดกันตรง ๆ เลยก็คือ ประชาชนชาวเนปาลเหมือนหลุดพ้นจากการกดขี่ข่มเหงของอินเดียนั่นเอง แต่อย่าลืมว่าแผนที่ที่ออกโดยเนปาลนี้ เป็นแค่ทางฝั่งเนปาลเพียงฝ่ายเดียว เนปาลต้องได้รับผลกระทบจากการออกแผนที่ นี้แน่นอน อินเดียเข้ามาอิทธิพลต่อประเทศเนปาลมาช้านาน ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ในฐานะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนปาลจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากอินเดียมานานหลายปี


และอินเดียก็เข้าไปมีบทบาทสำคัญในกิจการด้านต่าง ๆ ของเนปาล ค่าการนำเข้ารวมของเนปาลมีมูลค่า 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2017-2018 โดยมาจากอินเดียเพียงประเทศเดียวถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 65.15% ของการนำเข้าทั้งหมดของเนปาล สินค้าส่วนใหญ่ที่มาถึงกาฐมาณฑุ ถูกขนส่งโดยรถบรรทุกจากท่าเรือกัลกัตตาในอินเดียตะวันออก จะเห็นได้ว่าการนำเข้าสินค้าของประเทศเนปาล ต้องพึ่งพาประเทศอินเดียเป็นอย่างมาก


ทำไมเนปาลจึงตัดสินใจเผชิญหน้ากับอินเดีย


อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นอินเดียมีอิทธิพลต่อเนปาลเป็นอย่างมาก แต่เหตุใดเนปาลจึงกล้าที่จะออกมาต่อต้านอินเดีย มีเหตุชนวนที่ทำให้เนปาล ต้องเริ่มหาทางออกให้กับประเทศ เมื่ออินเดียเข้ามาควบคุม กดดัน และกดขี่ข่มเหงมากเกินไป หลังจากที่แผ่นดินไหวเมื่อเดือนเมษายน 2015 อินเดียได้สั่งปิดชายแดนอินเดียเนปาลทั้งหมด ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เนื่องจากการขัดแย้งกันทางการเมือง หลังจากที่เนปาลออกรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไม่นาน โดยอินเดียได้ตัดเชื้อเพลิงและเสบียงสำคัญ ไม่มีการขนส่งสินค้าเข้าออกอินเดียเนปาล มากกว่า 5 เดือน เกิดการขาดแคลนอาหาร แก๊ส น้ำมัน ยารักษาโรค รวมทั้งของที่ได้รับการบริจาคจากแผ่นดินไหว ที่ต้องขนส่งผ่านชายแดนอินเดีย ซึ่งในปี 2015 นี้ ถือเป็นปีที่ลำบากและสร้างความบอบช้ำให้กับประเทศเนปาลเป็นอย่างมาก

มอเตอร์ไซต์ต่อคิวซื้อน้ำมัน ที่ขาดแคลน ซึ่งบางคนรอเป็นวัน หรือบางคนจอดมอเตอร์ไซต์รอคิวทิ้งวัน 2-3 วัน

แท๊กซี่ที่ต่อคิวเติมน้ำมัน

ประเทศเนปาลได้รับความลำบากมากในตอนนั้น คิดในแง่ของมนุษยชนแล้ว อินเดียใจร้ายใจดำมาก เนปาลถูกบังคับให้หาทางเลือกอื่น ที่จะช่วยประเทศให้พ้นวิกฤตในครั้งนั้น จึงหันกลับไปมองยังชายแดนทางทิศเหนือที่ติดกับจีน อาจยังพอมีหวังที่จะขนส่งสินค้าได้บางส่วน แต่เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขา ทำให้ยากลำบากในการเดินทางข้ามเขาซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน และการขนส่งเป็นไปได้แค่ 30% เท่านั้น รวมทั้งจีนก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้เข้ามาช่วยเนปาลอย่างเต็มที่ ทั้งเงินกู้ เงินบริจาค และพยามที่จะช่วยส่งสินค้ามายังเนปาล ทำให้เกิดโครงการรถไฟ สายทรานส์หิมาลัย (เซนต์สัญญาในปี 2016) จากความช่วยเหลือให้เงินกู้จากจีน โดยจีนได้มองเนปาลเป็นหุ้นส่วนสำคัญต่อการเข้าไปลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคของเนปาล รวมทั้งการขยายเศรษฐกิจสู่เอเชียใต้จากเส้นทางรถไฟนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ในการส่งเสริมการค้าโลกของตน


Chinese President Xi Jinping receives guard of honor. Angad Dhakal/Kathmandu Post (12 October 2019)

ทางด้านอินเดียก็เข้าใจเช่นกันว่า การที่เนปาลปีกกล้าขาแข็งเช่นนี้ เนื่องจากการแทรกแซงจากจีน รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันของเนปาลก็คือเมาวดี ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากนี้ความสัมพันธ์ของอินเดีย-เนปาลจะเป็นอย่างไร หลังจากการประกาศแผนที่ใหม่ของเนปาลออกมาแล้ว สองเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อินเดีย – เนปาล เหตุการณ์แรก คือ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจเสียหายอย่างถาวร อินเดียอาจใช้ไม้แข็ง โดยการกดดันทางการทูต แต่ทางเนปาลเชื่อว่า อินเดียคงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้ เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ในรัฐสภาเนปาลได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย


เหตุการณ์ที่สอง ทั้งสองประเทศอาจนั่งเจรจากันภายในสองสัปดาห์ถัดไป อินเดียอาจต้องการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจากับเนปาล กองทัพอินเดียไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับกองทัพเนปาลซึ่งเป็นเหมือนพี่น้องกันมายาวนาน จากกรณีพิพาทดินแดนกันนี้ มิได้มีแต่ผลกระทบต่อการเชื่อมโยงทางการเมืองระหว่างสองประเทศ แต่จะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนทั้งสองประเทศเช่นกัน ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเหมือนเป็นประเทศเดียวกัน และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างเนปาล-จีน ที่ดีขึ้น ทางฝั่งของเนปาลเอง ดูเหมือนจะไม่โดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไป อาจทำให้อินเดียได้กลับมาคิดทบทวน ถึงการออกนโยบาลต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถึงแม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและให้เกียรติซึ่งกันและกันเช่นกัน

ดู 616 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page