็Hartalika-Teej เทศกาลถือศีลอดของผู้หญิงในเนปาล
top of page

Hartalika Teej เทศกาลถือศีลอดของผู้หญิงในเนปาล

อัปเดตเมื่อ 20 ส.ค. 2563

Teej คืออะไร ทำไมสตรีเนปาลต้องมีการถือศีลอด

หญิงเนปาล ฟ้อนรำก่อนวันถือศีลอด

เทศกาลนี้ เกิดขึ้นในเดือนเนปาล บาดรา (Bhadra, เดือนสิงหาคมถึงกันยายนในปฏิทินสุริยคติ) งานนี้จัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน ในเมืองกาฐมาณฑุ เทศกาลนี้ถูกจัดขึ้นที่ วัดปศุปตินาท (Pashupatinath) เป็นเทศกาลฉลองการรำลึกถึง การกลับมาพบกันอีกครั้งของเทพธิดา ปารวาตี และพระศิวะ ในช่วงเทศกาล ทีจ (Teej) ผู้หญิงเนปาลจะแต่งกายด้วยส่าหรีสีแดงที่สวยงาม และอดอาหารในวันนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่องค์พระศิวะ สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว จะสวดอ้อนวอนขอให้ชีวิตแต่งงานมีความสุข สามีมีสุขภาพแข็งแรงและชิวิตที่ยืนยาว สำหรับหญิงที่ยังไม่แต่งงานจะขอให้พบสามี และชีวิตครอบครัวที่ดี


งานเทศกาลนี้เป็นการเฉลิมฉลองของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูชาวเนปาล และอินเดียในบางพื้นที่ เพื่อสืบต่อและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมเอาไว้ โดยรัฐบาลเนปาล กำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการเช่นกัน


เรื่องเล่าความเป็นมาของเทศกาล ทีจ


นานมาแล้วกษัตริย์แห่งเทือกเขาหิมาลัยมีลูกสาวที่สวยงามชื่อปาราวตี ซึ่งเป็นหญิงสาวที่ฉลาดมาก พระนางปารวตี ชื่นชอบและหลงรัก พระศิวะ ซึ่งเป็นพระเจ้าแห่งการทำลายล้าง และการสร้างสรรค์ของชาวฮินดู แต่เสด็จพ่อของพระนาง กลับให้แต่งงานกับพระวิษณุผู้มั่งคั่ง ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ช่วยให้พระนางหนีออกจากบ้านได้สำเร็จ และซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบ จากนั้นเป็นต้นมาเธอใช้ชีวิตบวชเป็นนักบวชอยู่ในป่า เมื่อพระศิวะได้ทราบเรื่องก็รู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจทดสอบความจริงใจของเธอ


โดยปลอมตัวเป็นพระวิษณุ ผู้ร่ำรวยและขี่รถม้าอันงดงาม และพยายามหลอกล่อให้เธอแต่งงานกับเขา อย่างไรก็ตามปาราวตียังคงไม่ไหวติง พระศิวะรู้สึกประทับใจมากกับความมุ่งมั่นของเธอ และเปิดเผยตัวตนของเขา ในที่สุดปาราวตีก็ตระหนักถึงความฝันของเธอ และแต่งงานกับพระศิวะ จากการช่วยเหลือของเพื่อน ๆ ที่ช่วยเธอหลบหนีการแต่งงานกับพระวิษณุในวันนั้น ทำให้เธอได้แต่งงานกับพระศิวะในวันนี้ นางปารวตีจึงได้จัดงานเลี้ยงขอบคุณเพื่อน ๆ ของเธอเพื่อเฉลิมฉลองความสุข และนี่คือต้นกำเนิดของเทศกาล ทีจ



การเฉลิมฉลองของเทศกาล ทีจ


ทีจ ยังเป็นที่รู้จักกันในนาม "วันสตรีเนปาล" หรือ "เทศกาลแห่งการอธิฐานของสตรี" เทศกาลนี้จะมีขึ้นเป็นเวลาสามวัน เริ่มจากงานฉลอง การอดอาหารอย่างเข้มงวด สวดอ้อนวอนต่อพระศิวะ อาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การแสดงการเต้นรำแบบดั้งเดิม ฯลฯ วันที่สองของเทศกาลทีจ เราจะเรียกว่า วันสตรีเนปาล


วันที่ 1 ของเทศกาล เฉลิมฉลองโดยการรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน

ในตอนเช้าหญิงชาวเนปาลจะไปจับจ่ายตลาด เมื่อถึงเวลาเย็นพวกเขาจะทำอาหาร และเตรียมขนมหวานอันแสนอร่อย จะมีการเชิญเพื่อน ๆ มารวมตัวกัน เพื่อร่วมรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม มีการเต้นรำแบบดั้งเดิม และร้องเพลงสักการะบูชา การเฉลิมฉลองเหล่านี้ดำเนินไปจนถึงเที่ยงคืน


การเต้นเราของหญิงเนปาล เฉลิมฉลองเทศกาลในวันแรก

วันที่ 2 อดอาหารหนึ่งวันและสวดอ้อนวอนต่อพระศิวะเพื่อการแต่งงาน และชีวิตครอบครัวที่ดี

วันนี้เป็นวันถือศีลอดของเทศกาล ทีจ นอกจากนี้ยังเป็นวันหยุดราชการในประเทศเนปาล โดยหญิงชาวเนปาลจะเริ่มอดอาหารตั้งแต่เที่ยงคืนของวันแรกที่มีการเฉลิมฉลอง เริ่มต้นโดยในตอนเช้าหลังจากอาบน้ำแล้ว พวกเธอจะสวมเครื่องประดับทองคำและเงิน และแต่งตัวในส่าหรีสีแดงงดงาม จากนั้นพวกเขามุ่งหน้าเป็นกลุ่มไปยังวัดของพระศิวะในบริเวณใกล้เคียง เพื่อถวายดอกไม้และผลไม้ให้แก่พระศิวะ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดของการอธิฐาน คือการขอให้สามี มีสุขภาพดีชีวิตยืนยาว และครอบครัวที่มีความสุข หญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงานก็ทำตามพิธีกรรมของทีจ เพื่ออธิษฐานขอสามีและครอบครัวที่ดี


วัดปศุปตินาท อันศักสิทธิ์ ของชาวฮินดู

วัดปศุปตินาท เป็นวัดฮินดูอันศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญที่สุดในเนปาล เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ บักมาติ (Bagmati)ในช่วงเทศกาล ทีจ เป็นวัดอันดับต้น ๆ สำหรับผู้หญิงที่มานมัสการพระศิวะ ผู้หญิงเนปาลจะพยายามทำให้ตัวเองมีความสุขมากที่สุด นอกจากการอดอาหารแล้ว ยังมีการฟ้อนรำเพื่อดึงดูดความสนใจของพระศิวะ ในวันนี้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจะแต่งตัวในส่าหรีสีแดงให้ตัวเองดูเด่นและสวยที่สุดในวันนี้ และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในเทศกาลนี้ คือ ผู้หญิงชาวฮินดูทุกคน ที่ร่วมฉลองในเทศกาลนี้ จะไม่กินอะไรเลยตั้งแต่เช้าจรดค่ำจนถึงเที่ยงคืน พวกเขาจะต้องอดอาหารตลอดทั้งวัน ผู้หญิงที่เคร่งศาสนา จะพยายามไม่ดื่มน้ำแม้แต่ซักหยดเดียว โดยเชื่อว่ามันจะนำความโชคดีมาให้สามีและครอบครัว คุณจะต้องประหลาดใจกับแรงศรัทธา และความปรารถนาอันแรงกล้า เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้สภาพการอดอาหารสตรีเนปาล ไม่รู้สึกเหนื่อยหลังจากการอธิษฐานหนึ่งวัน

วันที่ 3 อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์

วันที่สามเรียกว่า ริสชิ ปันชามิ หลังจากที่มีการสวดมนต์อ้อนวอนต่อนักปราชญ์ - Kashyapa, Atri, Bharadhvaja, Vishvamitra, Gauthama, Jamadagni และ Vashishta ทั้งเจ็ดคน สตรีเนปาลจะอาบน้ำในแม่น้ำบักมาติ (สำหรับหญิงสาวที่อยู่ในเมืองกาฐมาณฑุ มักมาอาบน้ำที่นี่)สัญลักษณ์ของการอาบน้ำนี้จะช่วยปลดเปลื้องบาปทั้งหมด หลังจากอาบน้ำแล้ว พวกเขาจะไปกราบไหว้พระพิฆเนศ เพื่อให้ความปรารถนาของพวกเขาที่อธิฐานไปเมื่อวานนี้ได้บรรลุผล ในวันนี้จะเป็นอีกวันที่ผู้หญิงจะเพลิดเพลินกับอาหารที่หรูหรา อาหารหลายอย่างไม่เหมือนใครในเทศกาลนี้ เช่น ซุปถั่วพิเศษแกงแพะ และของหวานที่ทำจากแครอท

เทศกาลเนปาล ทีจ เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ครั้งแรกที่จะมาในช่วงปลายฤดูฝน ในเวลานั้นท้องฟ้าแจ่มใสและมีแสงแดดอบอุ่น ก่อนจะเริ่มเทศกาลไม่กี่วัน คุณจะเห็นหญิงชาวฮินดูเนปาล ร้องเพลงและเต้นรำที่ถนนและวัดเพื่อเฉลิมฉลองการมาถึงของเทศกาล หญิงที่ยังไม่แต่งงานหวังว่าจะมีการแต่งงานที่ดีในอนาคตและผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะอธิษฐานขอชีวิตที่ยาวนานและมีสุขภาพดีของสามี นักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ชาวฮินดูและชาวต่างชาติสามารถเข้าร่วมในงานเทศกาลนี้ได้ นอกจากนี้หากไปเที่ยวเนปาลตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนคุณมีโอกาสได้สัมผัสกับเทศกาลที่ยิ่งใหญ่อีกสามเทศกาลคือ เทศกาล จาไนปูรนิมา (Janai Purnima and Rakshya Bandhan) ไกยาตรา (Gai Jatra) และเทศกาล อินดรา ยาตรา (Indra Jatra) ด้วยเช่นกัน



ดู 447 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page