เทศกาล INDRA JATRA การบูชาเทพแห่งฝน
top of page

เทศกาล INDRA JATRA การบูชาเทพแห่งฝน

อัปเดตเมื่อ 9 ก.ย. 2565

อินทรา เทพผู้ขโมยดอกไม้?

ประเทศไทยมีขบวนแห่นางแมวเพื่อขอฝน ประเทศเนปาลก็มีเทศกาลขอบคุณเทพแห่งฝน


Devi Pykhan การเต้นรำของเหล่าเทพ (credit photo: https://aasraecotreks.com.np)

ตั้งแต่เดือนสิงหา จนถึงเดือนกันยาใน ประเทศเนปาลเฉลิมฉลองเทศกาลใหญ่ ๆ ถึง สามเทศกาล คือ Gai Jatra (ไก ยาตรา), Teej (ทิจ) และ Indra Jatra ( ยาตรา) ทั้งสามเทศกาลนี้ เป็นเทศกาลใหญ่ ๆ เป้ง ๆ ของเนปาล มีนักท่องเที่ยวหลาย ๆ ท่าน มาเที่ยวเนปาล เพื่อดูเทศกาลเหล่านี้

ประเทศเนปาลเฉลิมฉลองเทศกาลมากมายตลอดทั้งปี เนื่องจากประชากรในประเทศแบ่งออกเป็นหลายเผ่าพันธุ์ จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา และประเพณี จนบางคนยกให้เป็นประเทศที่ทำงานครึ่งปี มีวันหยุดครึ่งปี ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู แต่รัฐบาลเนปาล ก็ยังมีวันหยุดให้กับทุกศาสนา และหยุดให้กับเกือบทุกเผ่าพันธุ์ ที่มีเทศกาลของเผ่าตัวเองเลยก็ว่าได้


เทศกาล ใหญ่ ๆ ทั้ง 3 เทศกาล

กลับมาที่เทศกาล อินทรา ยาตรา กันต่อ สำหรับเทศกาลนี้จะเป็นเทศกาลใหญ่อีกเทศกาลหนึ่ง ที่เฉลิมฉลองกัน ในเมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาล เป็นของชนเผ่าเนวารี ดูจากสถิติงานเทศกาลทั้งปีแล้ว งานเทศกาลใหญ่ ๆ จะเป็นของชนเผ่านี้ รวมทั้งสถาปัตยกรรม งานแกะสลักต่าง ๆ ในเขตหุบเขากาฐมาณฑุ ก็เป็นของชนเผ่านี้เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากชนเผ่าเนวารี ถือเป็นชนเผ่าผู้บุกเบิกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตหุบเขากาฐมาณฑุ เป็นชนเผ่าแรก ๆ นั่นเอง


อินทรา คือ ใคร? ทำไมต้องมีการเฉลิมฉลองขอบคุณให้กับท่าน?

อิทรา คือ ราชาแห่งสวรรค์และเทพเจ้าแห่งฝน ในศาสนาฮินดู หรือคนไทยเรารู้จักกันในนามของพระอินทร์ ในบทความนี้ ขอเรียก เป็นเทพอิทรา ตามที่คนเนปาลเรียกขานแล้วกันนะคะ อิทรา ยาตรา คือ ขบวนแห่เฉลิมฉลองวันแห่งพระเจ้าอินทรา หรือ อีกความเชื่อหนึ่ง เป็นวันขอบคุณพระเจ้าแห่งฝน นอกจากนี้ในวันนี้ยังเป็นวันเฉลิมฉลองให้แก่พระไภรัพ (พระศิวะในปางดุร้าย) ซึ่งเชื่อกันว่า ท่านเป็นเทพที่ขจัดความชั่วร้าย อินทรา ยาตรา จะมีขึ้นทุก ๆ ปี ในเดือน บาดรา (Bhadra)ไปจนถึง เดือน อัสวิน กฤษณะ ชาตุรถิ (เป็นการเรียกชื่อเดือนตามปฏิทิน จันทรคติของเนปาล) เทศกาลนี้จะเฉลิมฉลองกัน ยาวนาน 8 วัน


Indra King Of The Gods Riding On An Elephant Gokarna Mahadev Temple (Credit photo: http://www.mountainsoftravelphotos.com/)
เรื่องเล่าความเป็นมาของเทพอินทรา

เรื่องเล่ามีอยู่ว่า วันหนึ่งเทพดาคินี พระมารดา ของเทพอินทรา ต้องการดอก ปาริจาต (Parijat) หรือ ชื่อในภาษาไทย คือ ดอก กรรณิการ์ ดอกปาริจาตไม่มีบนสวรรค์ เนื่องจากพระกฤษณะ ได้นำลงไปปลูกบนโลกมนุษย์หมดแล้ว เป็นดอกไม้ที่เริ่มออกดอกในช่วงฤดูฝน ไปจนถึง ฤดูหนาว ของประเทศเนปาล เป็นดอกไม้ที่นำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อพระมารดากล่าวเช่นนั้น เทพอินทราจึงปลอมตัวเป็นมนุษย์มายังโลกกับช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นพาหนะคู่ใจ เพื่อมาเก็บดอกปาริจาต เมื่อมาถึงโลกมนุษย์ ก็ได้ทิ้งช้างเอราวัณไว้ในป่าใกล้ ๆ เมืองการติปูร์ หลังจากได้ดอกปาริจาต แล้วจะกลับมารับ


Parijat flower (Cr. photo: By Thai Nepal Travels and Treks)


เทพอินทรา เดินไปเจอสวนขนาดใหญ่ มีดอกไม้นานาพันธุ์ รวมทั้งดอกปาริจาต สวนนี้เป็นของชาวนา พ่อหมอจอมขมังเวทย์ จึงได้เข้าไปเก็บโดยไม่ได้ขออนุญาตเสียก่อน ดูท่าสกิลการขโมยของท่านดูจะไม่ช่ำชอง สู้โจรบนโลกมนุษย์ไม่ได้ ถูกชาวนาจับมัดไว้ด้วยเชือกเวทย์มนต์ แก้ออกไม่ได้ แม้ท่านจะแสดงตนว่าตัวเองเป็นเทพก็ตาม ชาวนาก็ยิ่งโกรธเข้าไปใหญ่ นี่เป็นเทพ ยังริอาจเป็นโจร มาขโมยของของชาวบ้าน ท่านจะต้องได้รับการลงโทษ ชาวนาจึงตั้งข้อหาให้ท่านเป็นโจรขโมยดอกไม้ จับท่านมัดขึงตรึงแขนทั้งสองข้าง นั่งอยู่บนบันลัง ตั้งไว้ที่ จัตุรัส มารู (Maru) ให้ชาวบ้านชาวเมืองได้เห็น ว่าเทพก็ยังเป็นโจรนะเออ นอกจากชาวบ้านยังไม่พอ ปิศาจและเทพธิดาต่าง ๆ รวมทั้งเทวีกุมารี ก็ยังเดินทางมาดูหน้า เทพอินทรา ที่เป็นโจรขโมยดอกไม้


รูปภาพแสดงตอนที่เทพอินทรา ถูกจับ (Cr. By Uray1130 - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=20450701)

ฝ่ายช้างเอราวัณ เห็นนายท่านหายไปนานไม่กลับมาก็เกิดความกังวล จึงออกจากป่าไปตามหานาย ชาวบ้านเมื่อเห็นช้างตัวสีขาวสวยงาม ก็ไล่จับ ด้วยความตกใจช้างเอราวัณ จึงวิ่งหนีทำลายข้าวของของชาวบ้าน ใครก็ไม่สามารถจับได้ จนเจ้าปีศาจ ลากเข สามารถมาช่วยจับช้างไว้ได้


ผ่านไปหลายวันเทพอินทราก็ยังไม่กลับขึ้นไปบนสวรรค์ พระมารดาก็ให้เกิดความเป็นห่วงบุตรชายเป็นยิ่งนัก จึงลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อตามหา จนมาเจอลูกชายถูกชาวนาจับขังเอาไว้ ขอให้ปล่อยตัวลูกชายของตน ที่ลูกชายทำลงไป เป็นเพราะฉันบอกให้ลูกทำเอง (เข้าข่ายลูกฉันเป็นคนดีนะเนี่ย) แต่ชาวนาก็ยังไม่ปล่อย จนต้องขอให้เทพไภรัพ มาช่วยขอร้อง

Baka_bhairav_kathmandu (CR. By Uray1130 - Kamal Ratna Tuladhar, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=28345081)

ชาวนาเองก็คิดได้ว่าเราคงทำกับท่านเกินไป จึงยอมปล่อยตัวเทพอินทรา และกล่าวว่า “ตนรักและหวงแหนในต้นไม้มาก ไม่ชอบให้ใครมาขโมยดอกไม้ หรือพืชพันธุ์ ของตน” ท่านเทพก็ให้สัญญาว่าจะไม่ขโมยดอกไม้อีก พระมารดา ดาคินี ซาบซึ้งในน้ำใจของชาวนา ที่ยอมปล่อยลูกของตน นอกจากนี้ยังมีความรักและหวงแหนในต้นไม้ จึงให้พรแก่ชาวนา โดยให้หมอก และน้ำค้าง ตกลงมาอย่างเพียงพอในฤดูหนาว เพื่อให้พืชพันธุ์ การเกษตรต่าง ๆ ได้มีน้ำเพียงพอใช้ในฤดูหนาว รวมทั้งจะพาวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในครอบครัวกลับขึ้นสู่สวรรค์ด้วย ชาวนาเองก็รู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมากจึงขออนุญาตจากเทพอินทรา เสนอเรื่องราว ๆ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จัดเป็นงานเฉลิมฉลองขอบคุณ แก่เทพทั้งสอง ทุก ๆ ปี เทพอินทรา ก็อนุญาต และให้ธงของพระวิษณุไว้ เมื่อใดที่ต้องการจัดงาน ให้ตั้งเสาธงนี้ขึ้นฟ้า เพื่อท่านจะได้ทราบว่ามีงานเฉลิมฉลอง และลงมาร่วมงาน


ตั้งแต่นั้นมา เทศกาลของ อินทรา ยาตรา จึงเกิดขึ้น เป็นการแสดงความขอบคุณต่อเทพอินทรา และมารดาดาคินี เพื่อให้การเก็บเกี่ยวที่มาถึงให้ผลผลิตที่ดี และจะมีฝนตกในเวลาที่เหมาะสม ในทำนองเดียวกันเทศกาลนี้ยังเป็นการระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตของครอบครัว


การเฉลิมฉลองของเทศกาล

เทศกาลเริ่มต้นด้วยการสร้างเสา โยซิน หรือ ลินกา (Yosin or Linga) ที่พระราชวังกาฐมาณฑุ เป็นเสาไม้ยาวสามสิบหกฟุต (Linga (Yasingh)) ซึ่งนำมาจากป่าในเมือง นาลา (Nala) เมืองเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองกาฐมาณฑุ ห่างออกไป 29 กิโลเมตร โดยความเชื่อที่ว่า เทพอินทราได้รับเสาธงไม้นี้จากพระวิษณุ เพื่อได้รับการปกป้อง ผู้คนจะใส่หน้ากาก และออกมาร่วมขบวนแห่ อินทรา ยาตรา โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเนวารี มีการแบ่งปันเหล้าท้องถิ่น (Raski) มีการเต้นรำที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้า และปีศาจในช่วงที่มีการยกเสา ลินโกขึ้น ในช่วงเวลานี้ เราจะเห็นตัวแทนของ เทพอินทรา เทพไภรัพ และเทพเจ้าอื่น ๆ ผู้ที่มาร่วมเทศกาล ยังไปทำบุญที่ศาลเจ้าหลายแห่ง เพื่อระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วในครอบครัว

Raising the Yosin pole (Cr. photo: Kamal Ratna Tuladhar - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=21673289)

สิ่งที่น่าสนใจของเทศกาลนี้

สิ่งที่น่าสนใจ ในเทศกาลนี้ ไม่ใช่แค่การยกเสา ลินโก แต่เป็นขบวนแห่กุมารีหลวง ขบวนแห่ราชรถต่าง ๆ และระบำหน้ากาก รวมทั้งตัวแทนของ เทพอินทรา เทพไภรัพ และเทพอื่น ๆ ไปรอบ ๆ เมืองกาฐมาณฑุ กุมารี คือใคร? ทำไมต้องมีการแห่กุมารี? ชื่อนี้คงคุ้นหูท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน และอาจรู้จักประวัติความเป็นมาของกุมารีเป็นอย่างดี ไว้ผู้เขียนว่าง ๆ จะเขียนเล่าเรื่องราวประวัติของกุมารีให้อ่านนะคะ เทวีกุมารี หรือ Living God เป็นเทพที่มีชีวิตหนึ่งเดียวของชาวฮินดู เป็นตัวแทนของ เทพตะเลจู ภควินี ซึ่งเป็นเทพประจำตระกูลของกษัตริย์ แต่ที่เป็นกุมารีหลวง เพราะ กุมารี มีด้วยกันหลายเมือง เมืองกาฐมาณฑุ เมืองปาทัน เมืองมุงมาติ และเมืองปักตาปูร์ แต่ กุมารีหลวงจะประทับที่ พระราชวังกาฐมาณฑุ นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าพบได้ ได้แต่มองท่าน ออกมาทักทายทางหน้าต่างบ้านของท่าน แม้แต่ถ่ายรูปก็ไม่ได้ เพราะรูปของเทวีกุมารี มีขายอยู่ ทางเข้าบ้านท่านแล้ว

Living goddess kumari Trishna Shakya (Satyan Shrestha Photography https://www.facebook.com/satyanphotography/photos/a.372612862853670/1830344623747146/?type=3&theater)

แต่ทำไมคนจะต้องตื่นเต้นมากมายกับการแห่กุมารีหลวงนี้ เนื่องจากกฎข้อบังคับของการเป็นกุมารี เท้าไม่สามารถเหยียบพื้นดิน และออกจากที่พักของตนเองไม่ได้ ใน 1 ปี กุมารีจะออกจากที่พักได้ 13 วัน โดยปรากฏตัวตามงานเทศกาล และวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา เพราะฉนั้นใครที่อยากเห็นเทวีกุมารีตัวจริง แบบเต็ม ๆ ต้องไม่พลาดเทศกาล อินทรา ยาตรา แต่ใช่ว่าจะได้เห็นท่านกันง่าย ๆ ต้องฝ่าฝูงชนเป็นร้อยเป็นพันคนก็ว่าได้


ในขบวนแห่ ของ อินทรา ยาตรา จะประกอบไปด้วย


  1. มาจิพา ลากเข (Majipa Lakhey): ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ลากเข เป็นปีศาจในนิทานพื้นบ้านเนปาล มีใบหน้าดุร้ายมีเขี้ยว มีแผงคอ ผมเป็นสีแดงหรือสีดำ ลากเข มีความโดดเด่นในวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเนวารี ในรูปภาพมันดาลา ประเทศเนปาล เจ้าปีศาจลากเขนี้ จะออกมาเต้นรำสร้างความสนุกสนามให้กับงานเป็นอย่างมาก

  2. พูลูคิซิ (Pulukishi): แปลว่าช้าง ในภาษาเนวารี เป็นการระบำหน้ากากช้าง ซึ่งเป็นตัวแทนของช้างเอราวัณ ที่เป็นพาหนะของเทพอิทรา

  3. ซาวาน บาคู่ (Sawan Bhaku): เป็นเทพเจ้าที่บูชาโดยคนท้องถิ่น สวมหน้ากากและชุดวัฒนธรรมสีแดง มาพร้อมกับเทพ ไภรัพ ถืออาวุธที่แหลมคมในชุดสีน้ำเงิน

  4. ราชรถของพระพิฆเนศ (Ganesh Chariot)

  5. ราชรถของ เทวีกุมารีหลวง (Royal Kumari Chariot)

  6. ราชรถของ พระกุมาร (Kumar Chariot) เป็นพี่ชายของพระพิฆเนศ

ตลอดทั้งสัปดาห์ผู้คนจะเพลิดเพลินไปกับการเต้นรำแบบดั้งเดิม และเป็นสักขีพยานในการลากราชรถของเทวีกุมารี ราชรถพระพิฆเนศและเทพไภรัพ ถูกลากผ่านเมืองกาฐมาณฑุที่เก่าแก่ มีการเพิ่มวันในการฉลองเจ็ดวันดั้งเดิม เป็นแปดวัน และในวันนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อ นานิสชา ยา (Nanicha yaa) รถรบจะถูกดึงผ่าน ในเขตพื้นที่ นราเดวี, ออซอน, อินทราโจก และ หนุมาโดกกา (นึกภาพสำหรับท่าน ที่เคยมาเที่ยวเนปาล พื้นที่เหล่านี้ถัดออกไปจาก ทาเมล)วันพิเศษของการลากราชรถ ถูกเริ่มนำมาใช้โดย พระมหากษัตริย์ จายา ปรากัส มอลละ (Jaya Prakash Malla) ในปี ค. ศ. 1765


เราขอนำเสนอขบวนยาตรา ที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

ขบวน ราชรถของ เทวีกุมารีหลวง (Royal Kumari Chariot)

Chariot of Kumari (Cr. phot: By Krish Dulal - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16432649)

ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองเทศกาล อินทรา ยาตรา ราชรถของเทวีกุมารี ถูกนำออกไปลากในขบวนเพื่อขอบคุณเทพอินทรา บนถนนของเมืองกาฐมาณฑุ จะเต็มไปด้วยผู้คนแสดงการเต้นรำ ร้องเพลง และเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ เช่น กลองและฟลุต มีการแสดงจำลองการถูกขังของเทพอินทรา ในโซนของ จัตุรัสมารู โดยการสร้างเวทีที่ทำจากไม้ และจัดแสดงรูปปั้นเทพอินทรา ด้วยท่าแขนเหยียดและปกคลุมไปหญ้าและฟาง นี่เป็นประเพณีที่สืบทอดกันยาวนานมาตั้งแต่สมัยลิจฉวี ราชรถถูกนำออกมาลาก รอบเส้นทางที่แตกต่างกันในแต่ละวัน

  • วันแรก เรียกว่า กวานียา (Kwaneya): มีการลากราชรถในเขต Basantapur, Maru, Chikanmugal, Jaisidewal, Legan, Hyumat, Bhimsensthan, Maru, Basantapur

  • วันที่สอง เรียกว่า (Yenya Punhi): มีการลากราชรถในเขต Basantapur, Pyaphal, Nyata, Tengal, Nhyokha, Nhaikan Tol, Asan, Kel Tol, อินทรา Chowk, Makhan, Basantapur

  • วันที่สาม เรีกว่า นานิชายา (Nanichaya): มีการลากราชรถ ในเขต Basantapur, Pyaphal, Yatkha, Nyata, Kilagal, Bhedasing, พระอินทร์ Chowk, Makhan, Basantapur


ขบวนแห่ มาตา บิเย (Mata Biye)

ตะเกียงน้ำมันเนย (Cr. photo: By Thai Nepal Travels and Treks)

มาตา บิเย หมายถึงการจุดตะเกียงน้ำมันเนย โดยชาวเนวารี จะจุดตะเกียงน้ำมันเนยขนาดเล็ก เพื่อระลึกถึงคนในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว ขบวนนี้จะจัดขึ้นในวันแรก ประมาณ 6 เย็น และเดินตามเส้นทางต่อไปนี้: Maru, Pyaphal, Yatkha, Nyata, Tengal, Nhyokha, Nhaikan Tol, Asan, Kel Tol, Indra Chowk, Makhan, Hanuman Dhoka, Maru, Chikanmugal, Jaisidewal, Lagan, Hyumata, Bhimsensthan, Maru.


ขบวนแห่ เทพ ดากิน (Dagin)

Dagin_procession (Cr. photo: By Kamal Ratna Tuladhar - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18884883)

สำหรับขบวนนี้เดินในนามของ เทพ ดาคินี (Dakini) ซึ่งเป็นพระมารดาของเทพอินทรา ที่เดินไปรอบ ๆ เมือง เพื่อตามหาลูกชายของเธอ ในขบวนจะมีชายสวมหน้ากาก กำลังเล่นดนตรีอยู่ในวงดนตรี ขบวนเริ่มต้นจากมุมตะวันตกเฉียงใต้ของ จัตุรัส มารู ผ่านทางตะวันตกของ กาสมาณดับ (Kasthamandap) ขบวนจะเริ่มในเวลาประมาณ 20.00 นาฬิกา หลังจากขบวนแห่ของ เทวีกุมารี สิ้นสุดลงแล้ว และราชรถของเทวีกุมารี มาถึงจัตุรัส มารู นั่นเอง โดยมีเส้นทางเดินดังต่อไปนี้: Maru, Pyaphal, Yatkha, Nyata, Tengal, Nhyokha, Nhaikan Tol, Asan, Kel Tol, Indra Chowk, Makhan, Hanuman Dhoka, Maru, Chikanmugal, Jaisidewal, Lagan, Hyumata, Bhimsensthan, Maru.


ขบวน เบามาตา (Bau Mata)

Bau Mata (Cr. photo: By Kamal Ratna Tuladhar - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=21757912)

เป็นขบวนของกลุ่มวรรณะ มานานดา (Manandhar) ของชาวเนวารี โดยในบวนจะมีการนำต้น กกยาว เพื่อเป็นตัวแทนของงูศักดิ์สิทธิ์ วางตะเกียงน้ำมันอยู่บนแถวของงูที่สร้างขึ้นจากต้น กก สำหรับขบวนนี้เริ่มเวลาประมาณ 21.00 น. จากทางใต้ของ กาสมาณดับ (Kasthamandap) โดยมีเส้นทางเดินดังต่อไปนี้: Maru, Pyaphal, Yatkha, Nyata, Tengal, Nhyokha, Nhaikan Tol, Kel Tol, Indra Chowk, Makhan, Hanuman Dhoka, Maru, Chikanmugal, Jaisidewal, Lagan, Hyumata, Bhimsensthan, and Maru.

จะเห็นได้ว่า มีขบวนแห่ต่าง ๆ มากมายเข้าร่วมในเทศกาลนี้ และเวลาของการเดินขบวนยังล่วงเลยไปจนดึกดื่น เป็นเวลาถึง 8 วัน แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงทำให้งานลุล่วงผ่านไปได้ด้วยดี


การแสดงและนิทรรศการที่เกิดขึ้นในเทศกาล อินทรา ยาตรา

นอกเหนือจากขบวนแห่ต่าง ๆ แล้ว การจัดนิทรรศการและการแสดงยังเป็นส่วนสำคัญของเทศกาลด้วย

การแสดงรูปภาพของ เทพไภรัพ (Bhairab) จะถูกจัดแสดงตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองกาฐมาณฑุ ตลอดแปดวัน เทพไภรัพ เป็นร่างอวตารปางดุร้างของพระศิวะ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

เศวตไภรพ หรือ ไภรัพขาว (Swet Bhairab) ตั้งอยู่ที่พระราชวังกาฐมาณฑุ รูปปั้นเทพไภรัพที่ใหญ่ที่สุด ในโลกถูกซ่อนไว้ในม่านไม้ตลอดทั้งปีและจะเปิดออกมาเฉพาะในช่วงเทศกาลของอินทรา ยาตรา เป็นเทพแห่งความชุ่มฉ่ำ บันดาลฝน และการเก็บเกี่ยวที่ดี

Swet Bhairab (Cr. photo: By Thai Nepal Travels and Treks)

Kala Bhairav หรือ กาฬไภรัพ หรือไภรัพดำ ตั้งอยู่ที่พระราชวังกาฐมาณฑุเช่นกัน เป็นรูปปั้นหินสูง 12 ฟุต แกะสลักในศตวรรษที่ 5 และต่อมาถูกค้นพบในนาข้าวในศตวรรษที่ 17 โดยพระมหากษัตริย์ ประเทพ มอลละ เชื่อกันว่าเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ แห่งความซื่อสัตย์ สามารถลงโทษคนพูดเท็จให้เลือดออกจนตายได้ เวลาจะสาบานอะไร ต้องมาสาบานที่กาฬไภรพ

Kala Bhairav (Cr. photo: By Thai Nepal Travels and Treks)

อากาศะไภรัพ (Akash Bhairab) ตั้งอยู่ที่ อินทราโจก ในตำนานเล่าว่าการบูชา อากาศะไภรัพ มักเป็นเครื่องหมายของความปลอดภัยและความแข็งแกร่ง ในจินตนาการของชาวเนปาล อากาศะไภรัพเป็นสัญลักษณ์ของการคุ้มครองและความปรารถนาดีสำหรับประเทศชาติและประชาชน

Aakash_bhairav in Indra Chowk (Cr. photo: By Manjari Shrestha - originally posted to Flickr as aakash bhairav, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=7095590)

รูปภาพของ เทพอินทรา (Indraraj Dyah) จะจัดแสดงที่ จตุรัสมารู ใกล้กับ พระราชวังกาฐมาณฑุ และ อินทราโจก (Indra Chowk) รวมทั้งรูปภาพของพระนารายณ์ (Dasavatar) จะจัดแสดงในบ้าน ของเทวีกุมารี ในพระราชวังกาฐมาณฑุทุกคืน



อาหารศักดิ์สิทธิ์ มีการแสดงในเมืองกาฐมาณฑุ เมืองปักตาปูร์ และเมืองปาทัน อาหารศักดิ์สิทธิ์มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนของ สุขภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และอายุยืน ประกอบด้วยข้าวเม่าข้าวพอง ถั่วเหลืองทอด เหง้าขิง เนื้อหมักต้ม ปลาแห้งทอด ไข่ต้มทอดน้ำมัน ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ และสิ่งของอื่น ๆ รวมไปถึงไวน์ขาว ไวน์ท้องถิ่น (aaila) ของชาวเนวารี องค์ประกอบของ อาหารศักดิ์สิทธิ์ จะถูกจัดไว้อย่างสวยงาม และเก็บรักษาไว้อย่างดี ในระหว่างเทศกาลอินทรา ยาตรา ผู้ที่มาร่วมงานเทศกาลหลายร้อยคน จะนำอาหารศักดิ์สิทธิ์ มาถวายแต่ เทวีกุมารี พระพิฆเนศ และพระไภรัพ ในตอนท้ายของวันงาน จะมีการแจกจ่ายอาหารศักดิ์สิทธิ์ให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นอาหารมงคล (Prasad)

Samay Baj (Cr. photo: By https://www.pinterest.com/pin/426364289702390547/
การเต้นรำ

การเต้นรำหน้ากาก เป็นการแสดงที่สำคัญของเทศกาล อินทรา ยาตรา ผู้ที่เข้าร่วมงาน จะมีการสวมหน้ากาก และเต้นรำ ร่วมกับวงดนตรี เต้นไปบนท้องถนน โดยจะมีการเต้นรำดังต่อไปนี้

การเต้นของ มาจิพา ลากเข (Majipa Lakhey):

ลักเข เป็นหนึ่งในการเต้นรำที่น่าสนใจที่สุดที่ของชาวเนวารี ในเมืองกาฐมาณฑุ คำว่า “มาจิพา” มาจากคำว่า มัสจูพาตตาล ซึ่งหมายถึง "เมืองที่ก่อตั้งโดยพระโพธิสัตว์ มัสชูศรี (Manjushree) และ ลักเข หมายถึงปีศาจที่กินเนื้อเป็นอาหาร

Majipa Lakhey (Cr. photo: By By Less than 3 - https://www.flickr.com/photos/sandeepinc/4030942703/, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=20387248)

พูลูคิซิ (Pulukishi): การเต้นของหุ่นช้างเอราวัณ

พูลูคิชิ แปลว่าช้าง ในภาษาเนวารี เชื่อกันว่าช้างเป็นพาหะของท่านอินทรา และการเต้นรำของช้างก็ฉลองด้วยความยินดี จะมีการสร้างหุ่นช้างสีขาวขึ้นมา ชายหนุ่มเป็นผู้สวมหุ่นช้างนี้ร่วมเดินในขบวนแห่ มีการเต้นระบำของช้าง ทำเสียงร้องคำราม และเดินกวัดแหว่งหางให้ดูตลก ไปตามถนนในกาฐมาณฑุ

Pulukish (Cr. photo: By Krish Dulal - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16432716)

ซาวาน บาคู่ (Sawan Bhaku): การเต้นรำ ซาวาน บาคู่ เป็นการเต้นของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ใน ฮาลโจค การเต้นรำดำเนินไปตามเส้นทางของเทศกาล หยุดที่ทางแยก และรับสิ่งของจากผู้ที่มาร่วมงาน สำหรับการเต้นรำนี้ ผู้เต้นสองคน สวมหน้ากากและชุดวัฒนธรรมสีแดง มาพร้อมกับเทพ ไภรัพ ถืออาวุธที่แหลมคมในชุดสีน้ำเงิน


Sawa Bhakku (Cr. photo: By Uray1130 - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=20450659)

การเต้นของ เทวี พีคาน (Devi Pykhan)

เทวี พีคาน โดยนักเต้นจะสวมหน้ากากของเทพและเทพธิดาต่าง ๆ เช่น เทพไภรัพ เทวีกุมารี จันทรดิ กาวาน คยาห์ และ เบตา เป็นการเต้นเพื่อความสงบสุขให้กับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคท้องร่วง โดยจะมีขึ้นตามขบวนแห่ดังนี้ Kilagal, Hanuman Dhoka, Jaisidewal, Bangemuda, Indra Chowk และ Kilagal

Devi Pykhan การเต้นรำของเหล่าเทพ (credit photo: https://aasraecotreks.com.np)

การเต้นของ มหากาลี พีคาน (Mahakali Pykhan)

สำหรับการเต้นของ มหากาลี นี้ จะทำที่เมืองปักตาปูร์ ในเขตพระราชวังปักตาปูร์ รวมทั้งร่วมกับขบวนแห่ในเมืองกาฐมาณฑุด้วย คุณสมบัติลักษณะของการเต้นรำ มหากาลี คือการเป็นตัวแทนของ คยาห์ สัตว์ประหลาดที่มีขนดกเหมือนขนปุย ในนิทานพื้นบ้านของชาวเนวารี โดยเชื่อว่า ตัวสีขาวจะนำความโชคดีมาให้ และตัวสีดำจะนำมาซึ่งความโชคร้าย การแสดงจะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และอารมณ์ขัน


ทั้งขบวนแห่ และการแสดงต่าง ๆ ทำให้เทศกาล อินทรา ยาตรา เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ ที่แสดงออกถึงความศรัทธาและความเชื่อ ของประชาชน รวมไปถึงการร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษณ์ ประเพณี และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ให้คงอยู่สืบไป


Reference:

ดู 795 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page