top of page
รูปภาพนักเขียนThai Nepal Travels & Trek

มนัง ดินแดนที่โอบล้อมด้วยภูเขาแห่งเวทมนต์

อัปเดตเมื่อ 8 พ.ย. 2565

Manang ดินแดนแห่งเส้นทางเดินป่า ถ้ำที่เล้นลับ วัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา และอารามที่เงียบสงบ

ภาพทะเลทรายอันหนาวเหน็บท่ามกลางเงาฝน ตั้งอยู่บนเชิงเขาที่รายล้อมไปด้วยหิมาลัย มองเห็นยอดหิมาลัย นับไม่ถ้วนยื่นออกไปสู่ท้องฟ้าสีครามที่เกือบจะสัมผัสได้ หันกลับไปมองอีกด้านหนึ่ง ที่มีภูมิทัศน์ที่เขียวชอุ่มไปด้วยทะเลสาบ น้ำตก แม่น้ำและลำธารไหล การประกอบกันของภูมิประเทศทั้งสองนี้ คืออัลเพนโลว์ ที่ทำให้ทั้งภูมิภาคเป็นสีแดงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและตอนที่ดวงอาทิตย์ตก ซึ่งเป็นการสะท้อนของแสงจากเมฆนั่นเอง

ที่กล่าวมานี้คือ หมู่บ้านมนัง หมู่บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยหิมาลัย น้อยใหญ่ จนดูเป็นภูเขาแห่งเวทมนต์ ที่ทำให้หมู่บ้านมีเสน่ห์ มีมุมมองที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
Braka village

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อน สำหรับบทความนี้ จะขอเล่าถึงหมู่บ้านมนัง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดมนัง (คือหมู่บ้านกับจังหวัดมีชื่อเหมือนกัน อย่าเพิ่ง งง นะคะ) เรามารู้จักจังหวัดมนังกันก่อน จังหวัดมนังถูกแบ่งออกเป็น มนังตอนบนและมนังตอนล่าง ในมนังตอนบน รวมถึงหมู่บ้านมนัง วัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษา วิถีชีวิต และเครื่องแต่งกายได้รับอิทธิพลจากคนในที่ราบสูงทิเบต ในขณะที่ชาวมนังตอนล่างมีนิสัยใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านในลัมจุง ซึ่งค่อนมาทางกาฐมาณฑุ นิคมแรกที่คุณจะเจอเมื่อเข้าสู่เขต มนัง คือ ตาลกวน ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร


Tal village

คราวนี้เรามารู้จักหมู่บ้านมนังกันค่ะ หมู่บ้านมนัง เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ ที่สวยงามที่สุดในเนปาล ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเล 3518 เมตร อยู่ทางเหนือของเทือกเขา อันนาปุรณะ หรือ ทางตอนกลางของประเทศเนปาล ในเขตกานดากิ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุด ของ เส้นทางทางเดินป่า อันนาปุรณะเซอร์กิต (Annapurna Circuit Trek) ซึ่งถูกมองว่าเป็นเส้นทางเดินป่าระยะไกลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเส้นเซอร์กิตเทรคประกอบด้วยเขต ลำจุง, มนัง, มัสแตง, มแชงดิ และ กาสกี

Manang village

หมู่บ้านมนัง เป็นเขตมนังตอนบน รับวัฒนธรรม ต่าง ๆ มาจากทิเบต ทั่วทั้งภูมิภาคครัวเรือนจะประดับประดาด้วยธงมนต์ตราแบบพุทธ และสัญลักษณ์อื่น ๆ ของศาสนาบอนโบราณ เทศกาลในหมู่บ้านแห่งนี้มีลักษณะเฉพาะ การแต้มติกา หรือผงสีแดงบนหน้าผาก จะแตกต่างจากที่อื่นในประเทศเนปาล โดยที่นี่จะแต้มเป็นสีขาวคล้ายน้ำนม มนังยิ เป็นการเรียกชาวมนัง มีภาษาเป็นของตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาถิ่นของตระกูลชิโน - ทิเบตกว่า 400 ภาษาที่พูดกันทั่วเอเชีย เป็นเพียงภาษาพูด ไม่มีการเขียน ในปัจจุบันนี้จำนวนผู้พูดภาษานี้ลดลง เนื่องจากคนหนุ่มสาวได้รับการศึกษานอกชุมชนและครอบครัวย้ายถิ่นออกไปอยู่ที่อื่นเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ


Manang village with Gangapurna Lake on the right site

ในอดีต มนังยิ (ซึ่งเป็นชาว กูรุง และ กาเล) มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากมากเนื่องจากอากาศที่หนาวจัดในฤดูหนาว และแห้งแล้งมากในฤดูแล้ง แม้ว่าแม่น้ำ มาแชงดิ จะอยู่ทางทิศตะวันออก แต่หมู่บ้านแห่งนี้ก็ยังแห้งแล้งอยู่ดี ผู้ที่ยังคงอยู่ได้ในมนังได้สร้างวิถีชีวิตด้วยการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่กาฐมาณฑุในฤดูหนาว และกลับมาที่ มนัง เพื่อต้อนรับแขกในเดือนที่อากาศอบอุ่น

The Stupa stand in the middle of village

หมู่บ้านมนัง เป็นจุดพักผ่อนเพื่อปรับสภาพร่างกาย ให้ชินกับอากาศ และความสูง สำหรับนักเดินป่า และนักปีนเขาที่ก่อนจะเดินทางข้าม ทอรอง ลา พาส (Thorong La Pass, 5415 เมตร) หรือการปีนยอดเขา ทอรองลา ยอดเขาคงคาปุรณะ ส่วนใหญ่จะพักปรับร่างกายที่หมู่บ้านมนัง สองหรือสามคืน หมู่บ้านแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่ ที่น่าสำรวจมากมาย คุณสามารถซื้ออาหารอุปกรณ์เดินป่า ธนาคาร สถานีอนามัย และแม้แต่โรงภาพยนตร์! ได้ที่นี่ เอาเป็นว่าแค่เรานั่งเล่นบนดาดฟ้าของที่พัก เราก็จะตื่นตาไปกับ ยอดเขาอันนาปุรณะ III และ ยอดเขาคงคาปุรณะ หรือเดินไปตามถนนในหมู่บ้าน ที่มีการสร้างบ้านแบบดั้งเดิมด้วยไม้ ผสมกับหินตลอดทั้งหลัง มีกลิ่นไอ ของความเป็นชนบทแบบทิเบต และธรรมชาติ ที่มีควายกินฟางและเด็ก ๆ หัวเราะจากหน้าต่างหินเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก


Stone houses in Manang Village

Around Manang village

Agriculture in the Manang village

หากต้องการสัมผัส มนัง อย่างครบถ้วนการไปครั้งเดียวไม่เพียงพอแน่นอน มีสถานที่ที่น่าไปเยี่ยมชมมากมาย ซึ่งจะทำให้คุณหลงรักเขตภูเขาแห่งนี้ เราจะพาไปชมสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งในหมู่บ้านมนัง และรอบ ๆ หมู่บ้านกันค่ะ


Map of side trip in and near Manang village

ทะเลสาบ คงคาปุรณะ (Gangpurna Lake)

ทะเลสาบคงคาปุรณะ หรือที่ชาวเนปาลเรียกว่า คงคาปุรณะตาล ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ท้ายของหมู่บ้านมนัง เป็นทะเลสาบน้ำแข็งที่มีอายุน้อยมากซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อ 50 ปี เป็นทะเลสาบที่สงบเงียบ เหตุที่ทะเลสาบแห่งนี้ได้ชื่อว่า คงคาปุรณะเนื่องจากน้ำในทะเลสาบไหลลงมาจากธารน้ำแข็งจากเนินภูเขา คงคงปุรณะ ที่ความสูง 7,455 เมตร จากระดับน้ำทะเล


Gangapurna Lake bird viewed

ทะเลสาบแห่งนี้จะเป็นน้ำสีฟ้าในช่วงฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูใบไม้ร่วง และเป็นสีขาวในช่วงมรสุมและหิมะปกคลุมในฤดูหนาว ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยอดนิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากทะเลสาบ ทิลิโชะ เหนือทะเลสาบมีจุดชมวิวที่มีชื่อว่า “ช่องกอร์” ซึ่งมีฉากอันน่าทึ่งของภูเขาและทะเลสาบ คงคาปุรณะ อันงดงาม เรียกว่าทะเลสาบแห่งนี้เป็น ไฮไลค์ ของหมู่บ้านมนังเลยทีเดียว มามนังแล้วไม่มาทะเลสาบ คงคาปุรณะ เหมือนมาไม่ถึงมนัง





ถ้ำ มิลาเรปา (Milarepa cave)

ถ้ำมิลาเรปา อยู่กึ่งกลางระหว่างหมู่บ้าน มนัง และ บราก้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่ที่ความสูง 4,250 เมตร อาจไม่ใช่สถานที่ที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในมนัง แต่เป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดเนื่อง เนื่องจากวิวธรรมชาติที่งดงาม จนอยากให้คุณได้ไปสัมผัสด้วยต้วเอง ถ้ำมิลาเรปาใช้เวลาเดินทางไปกลับ 4-5 ชั่วโมง ถ้าเดินกันแบบชิว ๆ และพักผ่อนชมวิว ข้างบนนั้นด้วย ก็ใช้เวลาหมดไป 1 วันพอดีค่ะ แนะนำให้ห่ออาหารกลางวันไปรับประทานด้วยนะคะ


View of Milarep cave from Braka village

ความเป็นมาของถ้ำแห่งนี้ เป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมา ชื่อของถ้ำแห่งนี้ เป็นชื่อของนักปรัชญาชาวพุทธในทิเบต มานั่งสมาธิที่ถ้ำแห่งนี้ ในศตวรรษ ที่ 11 ในระหว่างการเดินทางในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งชาวมนัง รวมทั้งชาวทิเบตเชื่อในความศักดิ์ของถ้ำแห่งนี้


View from Milarepa cave

เรื่องเล่ามีอยู่ว่า นายพรานจากหมู่บ้านมนัง ไล่ล่ากวาง มาถึงบริเวณถ้ำ กวางที่ถูกล่าได้ลี้ภัยในถ้ำของ มิลาเรปา และรอดพ้นจากความตาย นายพรานไม่ฆ่ากวางเนื่องจากคำพูดหว่านล้อมของมิลาเรปา และยังทำให้นายพรานกลับใจไม่ฆ่าสัตว์อีก ในบริเวณใกล้เคียงกับถ้ำมีน้ำพุกอมปาและในบริเวณใกล้เคียงยังมีธนูซึ่งถูกใช้โดยนักล่า “ คันธนูอยู่ใกล้ถ้ำจนถึงทุกวันนี้”


Prayer flags and Milarepa temple

ไฮไลค์ ของถ้ำ มิลาเรปา คือด้านเหนือของยอดเขาอันนาปุณะ III ที่สูงตระหง่านอย่างใกล้ชิดมาก และวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของยอดเขาพิซัง ก่อนจะถึงถ้ำ มิลาเรปา เราจะเจอเจดีย์สีขาวสวยงามที่มีการทาสีสดใส ธงมนต์ตรา ปลิวไสวตามสายลมทำให้ที่นี่เป็นจุดพักผ่อนอันเงียบสงบ เมื่อคุณไปถึงเจดีย์วิวจะดีขึ้นเรื่อย ๆ และยังมีอาราม ที่มีรูปปั้นของ มิลาเรปา และพระพุทธรูปอื่น ๆ อยู่ภายในอาราม ในบริเวณนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของ บลูชิพ ซึ่งมีลักษณะเหมือนแพะชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแถบหิมาลัย จะพบเจอได้ที่ความสูง ตั้งแต่ 2600-3200 เมตร จากระดับน้ำทะเล


Blue Sheep



ส่วนตัวถ้ำนั้น ต้องเดินขึ้นไปอีกประมาณ 15 นาที มีกำแพงหินเล็ก ๆ รายล้อมถ้ำ และมีทางเข้าเล็ก ๆ ที่เป็นทางเข้าถ้ำและข้างในมีรูปปั้นของนักบวช มิลาเรปา ถ้ำมีความลึกประมาณ 10 ฟุต การเดินทางมายังถ้ำแห่งนี้อาจจะไม่ยากลำบากเท่าไหร่ แต่ด้วยความสูงที่มากถึง 4000 เมตร ทำให้หายใจลำบาก และรู้สึกเหนื่อยง่าย ทำให้เดินได้ช้าลง จุดเด่นของที่นี่ไม่ใช่ถ้ำ มิลาเรปา แต่เป็นวิวทิวทัศน์ ที่น่าทึ่งเสียมากกว่า มาถึงหมู่บ้านมนังแล้ว ก็ลองแวะมาเที่ยวกันได้นะคะ



หมู่บ้าน บราก้า (Braka village)

หมู่บ้าน บราก้า อยู่ห่างจากหมู่บ้านมนัง ประมาณ 20 นาที ในการเดินเท้า บร้าก้าเป็น 1 ใน 3 หมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในเขตจังหวัดมนังตอนบน คือ หมู่บ้าน บราก้า มนัง และ งาวาล ธรรมชาติที่เรียบง่ายและความสงบของหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านนี้สวยงามและคุ้มค่ากับทุกวินาทีที่คุณได้มาเยี่ยมเยือน ชาวเมือง บราก้า ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า ชาวกูรุง เช่นเดียวกับชาว มนัง พ่อค้าเหล่านี้เคยค้าขายอัญมณีเครื่องประดับและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไกลถึงสิงคโปร์ฮ่องกงและมาเลเซีย


View of Braka village from the way to Ice lake

หมู่บ้านลึกลับแห่งนี้มีผู้คนพลุกพล่านน้อยกว่าหมู่บ้านมนัง นักเดินป่าหลายคนที่ชอบความสงบ อาจพักปรับตัวที่หมู่บ้านนี้แทนหมู่บ้านมนัง ซึ่งอยู่ไม่ห่างกัน เราเรียกวันพักปรับตัวนี้ว่า “วันพักผ่อน" ไม่ใช่วันพักเลยทีเดียว ไม่ได้หมายความว่าคุณจะพักผ่อนและอยู่เฉยๆตลอดทั้งวัน คุณต้องตื่นตัวอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะเกิดลิ่มเลือด หรือโรคแพ้ความสูง ทางที่ดีที่สุดคือ การจำกัดความแตกต่างของการขึ้นสู่ที่สูงของคุณไว้ที่ไม่เกิน 500 เมตร ในแต่ละวัน การปีนสูงและนอนต่ำ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแพ้ความสูงได้


Farmers back home from the land between Manang and Braka.

นักเดินป่าจำนวนมากตัดสินใจที่จะพักผ่อนใน หมู่บ้านมนัง ด้วยเหตุผลที่ว่า (สิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่า ร้านค้า ฯลฯ ) แต่ หมู่บ้านบราก้า อาจเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับวันพักผ่อนเนื่องจากมีผู้คนน้อยกว่า โอกาสที่ดีกว่าในการได้ห้องพักในช่วงฤดูการเดินป่า (มีนาคม – พฤษภาคม และกันยายน - ธันวาคม) และความแตกต่างของระดับความสูงระหว่าง มนัง และ บราก้า เพียง 20 เมตร จึงไม่เกิดความแตกต่างเพื่อตัดสินใจว่าสถานที่ใด ดีกว่าสำหรับการปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อม



จุดเด่นของหมู่บ้านบราก้า คือ วัดแบบทิเบตที่เก่าแก่มาก ซึ่งถือว่าสำคัญมากในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ถึงแม้ว่าจะได้ขึ้นชื่อว่าเก่าแก่มากที่สุดก็ตาม แต่วัดแห่งนี้มีความสวยงามมาก และควรค่าแก่การเยี่ยมชม อันที่จริงมันเป็นวัด ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเส้นทางเทรก อันนาปุรณะเซอร์กิต


Braka Temple

ทะเลสาบน้ำแข็ง หรือ คิโช๊ะ ตาล (Ice Lake- Kicho Tal)

ทางไปทะเลสาบน้ำแข็ง มีได้หลายทาง เริ่มจากหมู่บ้านมนัง หมู่บ้าน บราก้า หรือ หมู่บ้าน มังจิ ก็ได้ แต่อย่าได้หลงเชื่อป้ายบอกตรงทางเข้า ที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เพราะคุณจะต้องใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง ในการเดินทางไปกลับ และบอกได้เลยว่า หอบแฮก เหนื่อยโฮกมาก สำหรับเส้นทางนี้ การเดินขึ้นทาง บราก้า หรือ มังจิ จะง่ายกว่า ทางหมู่บ้านมนัง เนื่องจากเส้นทางนั้นกว้าง มีเครื่องหมายบอกทางที่ดี และไม่สูงชันเท่าจากฝั่งหมู่บ้านมนัง


Blue color of Ice Lake on October


วิวทิวทัศน์ ระหว่างทาง ทั้งยอดเขา อันนาปุรณะ III ทะเลสาบทิลิโช๊ะ ที่เห็นอยู่ใกล ๆ ลิบ ทะเลสาบ คงคาปุรณะ หมู่บ้าน มนัง และหมู่บ้าน บราก้า ในมุมสูง จะทำให้คุณลืมความเหน็ดเหนื่อยและจุดหมายปลายทางในวันนี้เลยทีเดียว ก่อนจะถึงทะเลสาบน้ำแข็ง คุณจะเห็นทะเลสาบเล็ก ๆ ก่อน เดินต่อไปหลังจากนั้นอีกประมาณ 10 นาที คุณจะมาถึงที่หมายของวันนี้นั่นคือทะเลสาบน้ำแข็ง


White Stupa on the way to Ice Lake



แต่ถึงจะได้ชื่อว่าทะเลสาบน้ำแข็ง ก็มิใช่ว่าจะเป็นน้ำแข็งตลอดทั้งปี ทะเลสาบจะเป็นน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาวคือ ตั้งแต่เดือน มกราคม-เดือนเมษายน หลังจากนั้นน้ำแข็งจะละลายเป็นน้ำสีฟ้า ทิวทัศน์ของทะเลสาบและภูเขาโดยรอบเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและคุณสามารถเดินไปรอบ ๆ ทะเลสาบก่อนเดินทางกลับ


The small lake before Ice lake


การเดินทางไปหมู่บ้านมนัง

ถนนที่คดเคี้ยว เลี้ยวลด นำไปสู่เส้นทางที่ครั้งหนึ่งเคยเดินทางได้เพียงม้าหรือเดินเท้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีถนนที่เป็นฝุ่นตลบ ที่รถจี๊ป รถมอเตอร์ไซค์ และรถประจำทางท้องถิ่น เพียงไม่กี่คัน ผู้ที่คุ้นเคยกับหมู่บ้านมนัง และภูมิประเทศต่างยอมรับว่าการเดินทางมายังหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตลอดเส้นทางมายังหมู่บ้าน เป็นถนนดิน แคบ ๆ มีช่องเขาลึกตัดผ่านหน้าผาสูง ผู้เดินทางต่างก็รู้ดีว่าทุกย่างก้าวมีค่า “ มันเป็นการเดินทางที่ท้าทายด้วยรถจี๊ปเพื่อไปยัง หมู่บ้านชาเม (สำนักงานใหญ่เขต มนัง) จาก เมืองเบสิสห ซึ่งถนนลาดยางสิ้นสุดที่นั่น


Road to Manang from lower Pisang village



การเดินทางมายังหมู่บ้านมนัง ทำได้สองแบบ คือการเดินเท้า และการนั่งรถ สำหรับใครที่มีเวลาเยอะ และชอบการเดินป่า ชมธรรมชาติก็สามารถเริ่มเดินตั้งแต่หมู่บ้าน เบสิสห ได้เลย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ถึงหมู่บ้านมนัง บางท่านที่มีเวลาน้อย จะนั่งรถไปจบที่หมู่บ้านมนัง ได้ภายใน 1 วัน ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเป็นโรคแพ้ความสูง เนื่องจาก เพิ่มระดับความสูงเร็วเกินไปจาก 760 เมตร ไปหา 3500 เมตร ใน 1 วัน ซึ่งแม้แต่คนท้องถิ่นเองก็เกิดปัญหานี้




หรือเพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ให้นั่งรถถึงหมู่บ้าน ชาเม หลังจากนั้นเดินไปหมู่บ้านมนัง สำหรับท่านที่เริ่มเดินจาก หมู่บ้านเบสิสห ทางเดินจะเป็นทางแยกออกจากรถยนต์ เป็นเส้นคู่ขนานกันไป โดยใช้เวลา 3-4 วัน จึงเดินถึงหมู่บ้านชาเม จากหมู่บ้านชาเม ไปหมู่บ้านมนัง เราจะผ่านสวนแอปเปิล ขนาดใหญ่หลายร้อยไร่ ถ้าไปในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เราจะได้ทานแอปเปิล ได้แก่ กาล่าโกลเด้นและฟูจิ สดใหม่จากสวนที่รสชาติดีมาก ๆ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากแอปเปิล เช่น พายแอปเปิล น้ำแอปเปิล ไวน์แอปเปิล เป็นต้น


สะพานที่เป็นทางรถ ท้ายหมู่บ้านชาเม

ร้านค้าและที่พัก ที่ขายแอปเปิลสดจากสวน



นอกจากหมู่บ้านมนัง จะมีทีท่องเที่ยวโดยรอบมากมาย ระหว่างทางไปยังหมู่บ้านมนัง ยังมีวิวภูเขาหิมะขนาดมหึมาถูกยกมาวางตรงหน้าให้เราเห็นเป็นระยะ ๆ โดยเริ่มจากภูเขา Annapurna II และ III ผ่านทุ่งโล่งกว้าง ป่าสน และยังมีภาพน้องจามรี ยืนกินหญ้าให้ได้ชมกันเป็นฝูงใหญ่ สำหรับใครที่อยากเห็นภูเขาหิมาลัยลูกโต ธรรมชาติ วัฒนธรรมโบราณ แต่ไม่อยากต้องเดินลำบากมากมาย หมู่บ้านมนัง ถือเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ที่จะตอบโจทย์ของคุณ และจะทำให้คุณหลงรัก หมู่บ้านแห่งนี้จนอยากกลับมาซ้ำอีกครั้ง


วิวระหว่างทางไปหมู่บ้านมนัง

ลานกว้าง ทุ่งหญ้าเลี้ยง สัตว์ระหว่างทาง ส่วนใหญ่จะเป็นจามรี

ทางรถยนต์ บนถุงหญ้าเลี้ยงสัตว์

ถ้าไม่ชอบแบบนั่งรถ เดินออกกำลังกายขึ้นเขานี่คือหมู่บ้าน Upper Pisang ที่จะไปถึงได้ด้วยการเดินเท้าเพียงอย่างเดียว

นี่เป็นส่วนของเรื่องราว การเดินทางไปสู่หมู่บ้านมนังเท่านั้น ซึ่งถ้าใครสนใจการเดินทางเทรกในเส้นทางอันนาปุรณะเซอร์กิต สามารถติดตามผ่านได้ใน บล็อคของเรา เรื่อง ABC (Annapurna Base Camp) หรือจะ ACT (Annapurna Circuit) ดีนะ?






ดู 563 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page