top of page
รูปภาพนักเขียนThai Nepal Travels & Trek

ABC (Annapurna Base Camp) หรือจะ ACT (Annapurna Circuit) ดีนะ?

อัปเดตเมื่อ 20 พ.ค. 2566

by White Triangle


"คุณเคยไปเดินป่าประเทศเนปาลไหม? คุณรู้จักเส้นทางเดินป่าเส้นทางไหนในประเทศเนปาลบ้าง? คุณเคยสับสนที่จะเลือกเส้นทางเดินป่าในประเทศเนปาลไหม?"

ใครหลายคนเคยได้ยิน แว่วๆ สำหรับเส้นทางเดินป่าในประเทศเนปาล เช่น เส้น ABC หรือ เส้น EBC หรือแม้แต่เส้น ACT มันคืออะไรกัน จะย่อไปไหน ผ้ม งง!!!! สำหรับรายละเอียดเส้นทางเดินป่าหลายๆเส้น สามารถอ่านได้ใน โพส 8 เส้นทางเดินป่า ยอดฮิต ในประเทศเนปาล สำหรับโพสนี้ เราจะแนะนำความแตกต่างของเส้นทาง ABC และ ACT ส่วน EBC หลบไปก่อน เพราะอยู่คนละเขตกัน

ท้าวความกลับไปอีกนิด เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ในเขตอุทยานอันนาปุรณะแห่งนี้ มียอดเขามากมาย เรามาทำความรู้จัก แบบคร่าวๆกันก่อน ดังต่อไปนี้

Annapurna I, II, II, IV และ V, Annapurna South, Annapurna Central, Annapurna East, Annapurna Fang, Khangsar Kang, Tarke Kang, Lachenal Peak, Tilicho Peak, Nilgiri Himal North, Central and South, Machhapuchchhre, Hiunchuli และ Gandharba Chuli จะเยอะไปไหน จากรายชื่อที่กล่าวมาทั้งหมด ใครหลาย ๆ คน คงคุ้นๆกับบางชื่อกันนะคะ ตอนนี้มาเข้าเรื่องกันซักที



Tilicho paeak 7,135m Annapurna Central 8,051m Annapurna III 7,555m



Hiunchuli 6,441 m Nilgiri Himal, North 7,061m Annapurna II 7,937m



Annapurna South 7,219m Machhapuchchhre 6,993m Annapurna I (main) 8,091m




Annapurna Base Camp 4,130 m

เรามาทำความรู้จัก ABC กันก่อน


ABC ย่อมาจาก อันนาปุรณะ เบสแคมป์(Annapurna Base Camp)

ซึ่งเป็นการมุ่งหน้าเดินเข้าสู่ตัวฐาน หรือ เบสแคมป์ ที่ 1 ของเขตอุทยานอันนาปุรณะ ซึ่งเป็นจุดที่นักปีนเขา ที่จะเริ่มปีนสู่ยอดเขา อันนาปุรณะ I (Annapurna I) เป็นภูเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก (8091 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล) ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในภูเขาที่อันตรายที่สุดในโลก (จากอัตราการเสียชีวิตของนักปีนเขา)


Takot village, Nepal
Takot village
ส่วน ACT ย่อมาจาก อันนาปุรณะเซอร์กิต (Annapurna Circuit Trek) หรือการเดินรอบวงตามแนวเขา อันนาปุรณะ นั่นเอง


เราต้องอาศัยแผ่นที่เป็นตัวช่วยนะคะ…


Map of Annapurn Conservation Area
Map of Annapurn Conservation Area

จากภาพแผนที่เส้นทางรอบ เขตอนุรักษณ์อันนาปุรณะ เราจะเห็นว่า อันนาปุรณะเบสแคมป์ อยู่ตรงกลางพอดี (จุดสีเขียว) นั่นแปลว่า ABC trek คือการเดินมุ่งตรงสู่ใจกลางของภูเขาลูกนี้โดยไม่ได้สนใจเส้นทางรอบ ๆ เส้นอื่นเลย ส่วน ACT คือการเดินตามเส้นปะสีแดงไล่ตั้งแต่ฝั่งขวา (กรณีเดินทวนเข็มนาฬิกา) ของ เขตอันนาปุรณะ แล้วอ้อมไปยังฝั่งซ้ายสิ้นสุดที่ บิเรทานี (Birethanti, ฝั่งซ้ายของแผนที่) ผ่าน พูลฮิล (Poon Hill) ไปจนถึง อันนาปุรณะเบสแคมป์ (ABC) แต่เนื่องจากเส้น การเดินเซอร์กิตแบบเต็ม คือการเดินผ่านทุกจุดนั้นใช้เวลาค่อนข้างนานเกือบเดือน (ประมาณ 23-30 วัน) ทำให้มีการลดระยะทางในการเดินลง เช่น เดินจากหมู่บ้าน ชาเม (Chame) ไปสิ้นสุดที่หมู่บ้าน มุกตินาท (Muktinath) เราเรียกเส้นนี้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งของ อันนาปุรณะเซอร์กิต (Half Annapurna Circuit) ซึ่งหากดูจากแผนที่แล้วนักเดินป่า ที่มีเวลาค่อนข้างมาก ๆ มักจะเริ่มแบบ เต็มเซอร์กิต แล้วแวะเข้าเส้น พูลฮิล และเลยไปยัง อันนาปุรณะเบสแคมป์ พูดง่ายๆว่า ถ้ามีเวลามาก ๆ ก็เดินให้ครบทุกจุด ที่เปิดให้เป็นเส้นทางเดินในเขตอนุรักษณ์อันนาปุรณะ นั่นเอง แต่ใช่ว่าจะหมดแล้วจริง ๆ ก็ยังมีอีกเส้นคู่ขนานกับเส้น ABC คือ เส้น มารดิหิมาล (Mardi Himal) สำหรับเส้นนี้ถ้ามีโอกาสเราจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

หรือถ้าอ้างอิงจากภาพรวมทั้งหมดแล้ว แท้จริงแล้วการเก็บเส้นทางในโซนนี้ให้ครบ คือการรวมเส้น พูลฮิล (ฝั่งซ้ายของแผนที่) และ ABC (ตรงกลาง) เข้าไปด้วยกันกับ ACT (ฝั่งขวาและซ้าย) นั่นเอง เวลาพร้อม เงินพร้อม ก็บอกลาเพื่อนพ้อง ลูกเมีย ญาติสนิทมิตรสหาย ซักเดือน แล้วออกเดินทางได้เลย

แต่สำหรับคนไทยอย่างเรา ๆ มีเวลาน้อย ลาได้แค่ 8 วัน บ้าง 12 วัน บ้าง ไม่ก็ได้แค่ 20 วัน แบบบีบแบบงัดมาทุกวันหยุดในหนึ่งปี (ใช้วันลาจนหมด เหลือแต่ลาได้ 2 อย่าง คือ ลาขาดจากงานตลอดไป และลาตาย) คงจะจัดเต็มอันนาปุรณะเซอร์กิต แบบฝรั่งไม่ไหว จากข้อความข้างต้นที่บอกไป หลายๆคนคงพอเห็นภาพเส้นทางคร่าวๆแล้ว จากนี้เรามาดูความแตกต่างของ วิว จำนวนวันเดินทาง ค่าใช้จ่าย กันค่ะ

ABC (Annapurna Base Camp Trek)


ระยะเวลาที่ใช้: เฉลี่ย 9-12 วัน แบบไม่ผ่านพูลฮิล (รวมวันไปกลับจากประเทศไทย)

และ 12-14 วัน แบบผ่านพูลฮิล

ระดับความยาก: จัดว่าอยู่ในระดับปานกลาง


วิวและเส้นทาง ของอันนาปุรณะเบสแคมป์


Poon Hill, Kaski, Nepal
Poon Hill

หลังจากนั่งรถหรือนั่งเครื่องบินลงที่ เมืองโพครา ส่วนมาก เริ่มต้นโดยการนั่งรถ ไปยัง หมู่บ้าน ฮิลเล (Hile) หรือ อูเลรี่ (Ulleri ในบางครั้งฝนตกหนักทางขาด รถจะวิ่งถึงได้ แค่หมู่บ้านฮิลเล) เรียกว่าเดินวนซ้าย ซึ่งตอนนี้พัฒนามีรถจิ๊บขึ้นถึงแล้ว ไม่ต้องเดินกินฝุ่นอีกต่อไป เวลาที่ซื้อแพกเกจทัวร์ ให้สังเกตออฟชั่นว่ารวมตรงนี้ให้ด้วยรึเปล่า หรือปล่อยให้เดินตั้งแต่ หมู่บ้าน ไนยาปูร์


แต่ถ้าท่านใดเลือกเดินแบบไม่ผ่าน พูลฮิล รถจะวิ่งถึงหมู่บ้าน กิมเช (Kimche) และเริ่มเดินไปยังหมู่บ้าน กรานดุก (Ghandruk) เรียกว่าเดิน วนขวา เราจะค่อยๆเดินไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดนเส้นนี้จะต้องผ่านทั้งที่ราบชันทั้งโล่งกว้าง ทั้งน้ำตก และลัดเลาะไปตามป่าเขา เจอขั้นบันไดนับไม่ถ้วน(ที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ความยาวและชันของบันได เอาเป็นว่าบันไดนาคแถววัดชนบทบ้านเราต้องกราบขอเป็นศิษย์ ก็ไม่เข้าใจว่าคนที่นี่จะขยันสร้างบันไดไปไหนหว่า ในช่วงตรงกลาง ณ หมู่บ้านชอมรอง ในวันที่ฟ้าใสอากาศดี เราก็สามารถเห็นยอดเขาอันนาปุรณะใต้ ลูกมหึมาได้อย่างชัดเจนเป็นแรงใจในการเดินทางสู่เป้าหมายได้เป็นอย่างดี

Machhapuchchhre 6,993 m
Machhapuchchhre 6,993 m

เราจะพบพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยหิมะเมื่อผ่าน หมู่บ้าน ดิวราลี่ (Deurali) ยกเว้นถ้ามาเดินในช่วงปลายธันวาคม หิมะจะหนาตั้งแต่หมู่บ้าน ชอมรอง (Chhomrong) ซึ่งอาจต้องหยุดเดินเนื่องจากอันตรายไม่สามารถไปต่อได้ วิวระหว่างทางก่อนถึง หมู่บ้านดิวราลี่ มักจะเป็นป่า เห็นภูเขาหิมะจากระยะไกล นักเดินทาง ต้องใช้ชีวิตแบบอดเปรี้ยวไว้กินหวาน กว่าจะเห็นภูเขาหิมะจัง ๆ ก็วันท้ายๆของการเดินทาง บางวันคิดว่าเดินอยู่บนดอยหลวงเชียงดาว ไหนหว่าภูเขาหิมะนามว่าหิมาลัย มีแต่ป่ากับป่า แต่...หลังจากผ่าน หมู่บ้านดิวราลี่ ไปเท่านั้น เหมือนอยู่คนละโลกกันเลยค่ะ จากป่าเปลี่ยนเป็นลานกว้างที่มีภูเขาหิมะขนาดใหญ่เป็นฉากหลังแบบซุปเปอร์อลังการงานสร้าง อารมณ์แบบโดนน็อกแล้วตื่นขึ้นมาเจอสวรรค์ยังไงยังงั้น มีทั้งภูเขาหางปลา มัจฉะปูชเรย์, อันนาปุรณะ I, อันนาปุรณะใต้ เรียงรายเป็นแนว

จุดที่สวยที่สุดของเส้นทางนี้ น่าจะเป็น มัจฉะปุชเรย์เบสแคมป์ (Machhapuchchhre สูง 3700 เมตร จากระดับน้ำทะเล) ที่มีวิวแบบพาโนรามา ภูเขาหิมาลัยสีขาว ล้อมรอบแบบ 360 องศา ขากลับ เราเดินลงทางเดิม จนมาถึงจุดแยก ที่หมู่บ้าน ชอมรอม บางคนอาจเดินมาหมูบ้าน กรานดุก หรือบางคนอาจเลี้ยวซ้ายเดินลง สู่ บ่อน้ำพุร้อน หมู่บ้านจินนุ ดานดา (Jhinu danda) เพื่อแช่น้ำพุร้อน


ACT (Annapurna Circuit Trek)


ระยะเวลาที่ใช้: เฉลี่ย 11 วัน แบบไม่ผ่านทะเลสาบทิลิโชะ (Tilicho Lake)

หรือ 13 วัน แบบ ผ่าน ทะเลสาบทิลิโชะ (รวมวันไปกลับจากเมืองไทย)

ระดับความยาก: จัดว่าอยู่ในระดับปานกลางถึงยาก


วิวและเส้นทาง


Upper Pisang village, 3700 m, Manang, Nepal
Upper Pisang village, 3700 m

สำหรับเส้นทางนี้อาจเริ่มจากเมืองโพคราหรือเมืองกาฐมาณฑุก็ได้ อย่างที่กล่าวในครั้งแรกการเดินจะเป็นการเดินแบบวงกลม ตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา บางท่านเริ่มจากเมืองโพครา บินหรือนั่งรถไปจอมสอม และ เริ่มเดินจากหมู่บ้านมุกตินาท ข้ามทอ-ลอง-ลา และมาจบที่หมู่บ้านเบสิสห แบบนี้คือการเดินตามเข็มนาฬิกาซึ่งจะยากกว่าการเดินทวนเข็ม จึงไม่เป็นที่นิยมกันนัก หรือถ้าอยู่โพคราอยู่แล้ว นั่งรถมาจุดแยกมุกลิง แล้วต่อรถไปยังเบสิสห เป็นการนั่งรถสองต่อ ถ้าเป็นรถสาธารณะ แต่ถ้าเริ่มจากกาฐมาณฑุ จะมีรถประจำทางรวดเดียวถึง หมู่บ้านเบสิสหได้เลย หรือต่อยาวไปจนถึงบุนบูเล่ ซึ่งระยะทางจะเท่ากัน แนะนำให้เริ่มทางฝั่ง กาฐมาณฑุ จะง่ายและสะดวกกว่า และการเริ่มจากหมู่บ้านเบสิสห เป็นการเดินแบบทวนเข็มนาฬิกา

ถ้ามีเวลามากอยากเดินให้สมใจอยาก สามารถเริ่มต้นเดินจากหมู่บ้าน เบสิสห (Besisahar 760 m asl) หรือหมู่บ้านบุนบูเล่ ที่เป็นจุดสิ้นสุดของรถประจำทาง ได้เลย สำหรับเส้นทางนี้จะมีรถจิ๊บวิ่งไปสิ้นสุดที่หมู่บ้านมนัง บางท่านที่มีเวลาน้อย จะนั่งรถไปจบที่หมู่บ้านมนัง ภายใน 1 วัน ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเป็นโรคแพ้ความสูง เนื่องจาก เพิ่มระดับความสูงเร็วเกินไปจาก 760 เมตร ไปหา 3500 เมตร ใน 1 วัน ซึ่งแม้แต่คนท้องถิ่นเองก็เกิดปัญหานี้


Manang village, 3,500 m, Nepal
Manang village, 3,500 m

หรือเพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ให้นั่งรถถึงหมู่บ้าน ชาเม หลังจากนั้นเดินไปหมู่บ้านมนัง และพักปรับร่างกายอีก สองคืน จะดีมาก สำหรับท่านที่เริ่มเดินจาก หมู่บ้านเบสิสห ทางเดินจะเป็นทางแยกออกจากรถยนต์ เป็นเส้นคู่ขนานกันไป โดยใช้เวลา 3-4 วัน จึงเดินถึงหมู่บ้านชาเม

เส้นทางของ ACT ในช่วงแรกต่างจาก ABC มาก การเดินในวันแรกๆก็อลังการงานสร้างแล้วค่ะ วิวภูเขาหิมะขนาดมหึมาถูกยกมาวางตรงหน้าให้เราเห็นเป็นระยะ ๆ โดยเริ่มจากภูเขา Annapurna II และ III เส้นทางเดินไม่ใช่เส้นเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าเหมือน ABC ส่วนมากจะเป็นทางแคบริมเขาสูงลัดเลาะไปเรื่อย ๆ สลับกับทุ่งโล่งกว้างสุดลูกหูลูกตา จะมีผ่านป่าก็แค่ช่วงสั้นๆในวันแรกๆที่ออกจาก ชาเม เช่น สวนแอปเปิล ป่าสนที่ไม่ได้รกทึบปกคลุมสองข้างทางแบบ ABC แม้จะมีขั้นบันไดท้าทาย ไม่เยอะเท่า ABC แต่การเดินจะต้องเดินขึ้นสุด ภูเขา และลงสุดภูเขา ใน 1 วัน ซึ่งจะค่อยข้างยากกว่า ABC ลักษณะภูมิประเทศ หลังจากหมู่บ้านมนังไปแล้ว จะเป็นทุ่งโล่งกว้าง ต้นไม้เป็นแบบพุ่มไม้เล็กๆ และแห้งแล้งเป็นหินภูเขา เนื่องจากการเดินเป็นแบบวงกลม ทางแยกเข้าสู่ทะเลสาบทิลิโชะ จะมีสองช่วง ใครที่เดินแบบทวนเข็มนาฬิกาจะเจอทางแยกไปยังทะเลสาบที่หมู่บ้านมนัง ส่วนถ้าเดินแบบตามเข็ม จะเจอทางแยกที่ระหว่างทางออกจากหมู่บ้าน ยักกาขา (Yakakha) เข้าสู่หมู่บ้าน โอนกังสา (Old Khangsar)

Old Khangsar village, Manang, Nepal
Old Khangsar village

ทะเลสาบทิลิโชะ เป็นทะเลสาบที่สูงที่สุดในโลก สูง 4,191 จากระดับน้ำทะเล แน่นอนว่า อะไร ก็ตามที่มันที่สุดในโลก กว่าจะเดินไปถึงมันก็ต้องยากลำบากพอสมควร ระหว่างทางไป ทิลิโชะแบสแคมป์ จะเป็น แลนด์สไลด์ ประมาณ 2-3 กิโลเมตร สลับกันไป กับหินผาสูง ซึ่งนับเป็นเส้นทางที่อันตรายเส้นทางหนึ่ง จากเบสแคมป์ ขึ้นไปหาทะเลสาบ มีความสูง 900 เมตร เป็นระยะทางที่สูงชันมาก และมีแลนด์สไลด์ด้วยเช่นกัน ซึ่งทะเลสาบจะเริ่มเป็นน้ำแข็งในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นจะค่อยละลาย กลายเป็นทะเลสาบสีเขียวเทอร์ควอยซ์ ในช่วงเดือน กันยายน ถึงเดือนธันวาคม เราจะเห็นภูเขาหิมะแบบเต็มๆตาทั้ง Annapurna II,III,IV, Gangapurna, Tilicho คอย เป็นเพื่อนร่วมเดินทางตลอดเส้นทางนี้ ใครรักการถ่ายรูปสายแลนด์ฯน่าจะได้ภาพกลับไปชนิดเมมโมรีเท่าไหร่ก็ไม่พอ


จากนั้นเรา วกกลับออกมาที่แยก ยักกาขา (Yakakha) อีกครั้ง แล้วเลี้ยวขวาไปยังหมู่บ้าน เลเดอร์ (leder) ทอ-รองลา-เพดิ (Thorongla Phedi) และ ไฮน์แคมป์ (High Camp) จนข้ามช่องเขา ทอ-รอง-ลา (Thorong La Pass) ทางเชื่อมภูเขาที่สูงถึง 5416 เมตร จากระดับน้ำทะเล แล้วค่อยเดินลงแบบยาว ๆ ผ่านภูเขาและทางโล่งโดยมีวิวของภูเขา เดาลากิริ (Dhaulagiri) อยู่เหนือหมู่บ้าน มุกตินาท จากหมู่บ้านมุกตินาท เราสามารถนั่งรถสาธารณะ หรือเช่ารถส่วนตัวต่อไปยังเมืองโพครา แต่ถ้าใครต้องการบินกลับโดยเครื่องบิน ต้องเดินหรือนั่งรถต่อไปยังหมู่บ้าน จอมสอม ซึ่งเป็นประตูสู่ดินแดนมัสแตง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ โลมัสแตง นั่นเอง การสิ้นสุดที่ตรงนึ้คือการเดินแบบ ครึ่งเซอร์กิต ถ้าใครที่เดินแบบ เต็มเซอร์กิต ก็เดิน หรือนั่งรถ ต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงหมู่บ้าน ตาโตปานี ที่มีน้ำพุร้อนให้แช่คลายปวดเมื่อย และเป็นทางแยกเข้าสู่หมูบ้าน สิกขะ และโกเรปานี สู่พูลฮิล และอันนาปุรณะเบสแคมป์ อีกต่อไป


The way from Thorong La to Charabu village (4230 m)
The way from Thorong La to Charabu village (4230 m)

ข้อแตกต่างระหว่าง ABC และ ACT ที่ชัดเจนคือ

  1. ระยะเวลาที่ใช้เดินเส้น ACT จะใช้เวลาที่นานกว่า

  2. ความสูงของเส้นทาง ABC สูงสุดที่เบสแคมป์ คือ 4130 เมตร จากระดับน้ำทะเล เส้นทาง ACT สูงสุดที่ ทอ-รอง-ลา (Thorong La Pass) คือ 5416 เมตร จากระดับน้ำทะเล

  3. ABC จะเห็นวิวภูเขาหลักอย่าง มัจฉปูชเรย์ (Machapuchare), อันนาปุรณะ I และ อันนาปุรณะใต้ (Annapurna I และ South) แบบใกล้ ๆ แบบมือคว้าจับต้องได้ ในขณะที่ ACT จะเห็นวิวภูเขา อันนาปุรณะ I, II, III และ IV (Annapurna II, III, IV) แก็งโพนา (Gangapurna) และ ทิลิโชะ (Tilicho)

  4. ค่าใช้จ่าย ACT สูงกว่า ABC ตามจำนวนวันที่มากกว่า

  5. การเทรกเส้น ABC ช่วงแรกๆจะเดินผ่านป่าที่ขนาบสองข้างทาง เน้นขึ้นลงบันไดให้ต้นขากระชับ ในขณะที่ ACT จะเป็นการเดินริมผาแคบๆแต่ชัน แม้ขั้นบันไดไม่มากแต่ก็สูงชันจนต้องร้องขอชีวิตกันเลยทีเดียว

  6. ACT จะเดินขึ้นภูเขาและลงภูเขาภายใน 1 วัน ที่มักเป็นจุดสูงและเดินลำบาก ภูมิประเทศจะเป็นทุ่งโล่ง แห้งแล้ง ภูเขาแบบไม้พุ่งเตี้ยไม่ใช่ป่าดิบชื้นเหมือน ABC กอปรกับยิ่งสูงยิ่งหนาว ยิ่งสูงอากาศยิ่งเบาบางเสี่ยงต่อการเป็นโรคแพ้ความสูง ในหลาย ๆ จุด แต่เนื่องจาก ACT ใช้เวลาเดินนานกว่าและเริ่มต้นที่ความสูงไม่มาก ทำให้ถ้าเดินช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ โอกาสเกิด โรคแพ้ความสูง ก็จะลดลงไปด้วย

  7. ทั้งสองเส้นทางใช้ใบอนุญาตในการเดินป่าเหมือนกันคือ ACAP และ TIMS card


ข้อควรตระหนักคือโรคแพ้ความสูง ไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งรีบยิ่งเสี่ยง ยิ่งนอนน้อยนอนไม่หลับยิ่งเสี่ยง ต้องดูแลตัวเองและประเมินอาการผิดปกติของตัวเองให้ดี ยิ่งสูงอาหารการกินยิ่ง...แป้งและแป้ง...เนื้อสัตว์สดและใหม่หายากยิ่งกว่าหันไปแทะเนื้อเพื่อนร่วมเดินทาง และควรระวังไฟล์ทบินขึ้นและลง เมืองโพคราและเมืองจอมสอม ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องดีเลย์หรือยกเลิก(แบบดื้อๆ) เหตุเพราะสภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย ซึ่งอาจกระทบกับโปรแกรมที่เซ็ตไว้ค่ะ


สามารถเปรียบเทียบราคาของ เส้นอันนาปุรณะเบสแคมป์ และ เส้นอันนาปุรณะเซอร์กิต ได้ตามลิงค์

ขอบคุณบทความจาก White Triangle ที่ร่วมเขียนบทความให้กับไทยเนปาล หลายๆบทความ

*รูปภาพบางส่วนจาก google*


ติดตามข่าวสารเนปาล หรือ พูดคุยกับเราได้ใน line @thainepaltravels









ดู 1,497 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Kommentare


bottom of page