เมื่อมีเวลาไม่มาก เมื่อต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง บทความนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น อันนาปุรณะเบสแคมป์ หรือ มาลดิหิมาล คำตอบสำหรับคำถามของคุณอยู่ในบทความนี้แล้วนะคะ !!!!
ทั้งอันนาปุรณะเบสแคมป์ หรือ เอบีซี และมารดิหิมาล เป็นเส้นทางเดินป่าที่มีชื่อเสียงทั้งสองเส้น ถ้ามีเวลามากพอเราสามารถเดินทั้งสองเส้นทางรวมกันได้ แต่สำหรับใครที่มีเวลาอันน้อยนิดไม่ต้องเสียใจไปค่ะ ในบทความนี้เราจะมาเปรียบเทียบทั้งสองเส้นทาง ช่วยให้นักเดินทางตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเส้นทางเทรกทั้งสองเส้นกันก่อนนะคะ
อันนาปุรณะเบสแคมป์ และ มารดิหิมาล ทั้งสองเส้นทางนี้ตั้งอยู่ในเขตภูมิภาคอันนาปุรณะ แบบเข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นเส้นทางที่เดินคู่ขนานกันไป แต่มารดิหิมาลเบสแคมป์ จะอยู่สูงกว่า อันนาปุรณะเบสแคมป์ ระหว่างเดินเราสามารถมองเห็นเส้นทางไปสู่อันนาปุรณะเบสแคมป์ อยู่ข้างล่าง
เนื่องจากเส้นทางอันนาปุรณะเบสแคมป์ เปิดให้นักท่องเที่ยวก่อนเส้นมารดิหิมาล คือตั้งแต่ปี 1990 จึงทำให้มีเชื่อเสียงมานาน และนักเดินทางรู้จักเยอะมากกว่า ส่วนเส้นมารดิหิมาลนั้น เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเดินอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2012 แต่ด้วยความงามของเส้นทางนี้ทำให้มาลดิหิมาล มีชื่อเสียงเทียบเท่ากับเส้นทางอันนาปุรณะอย่างรวดเร็ว
หลายคนอาจคิดว่า ทั้งสองเส้นทางนี้อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน พื้นที่ใกล้เคียงกัน วิวทิวทัศน์ก็คงจะเหมือน ๆ กัน โดยความเป็นจริงแล้วก็แตกต่างกันมากมายอยู่ค่ะ
อันนาปุรณะเบสแคมป์ หรือ เอบีซี
ไฮไลท์ของเส้นทางเทรกอันนาปุรณะเบสแคมป์ คือ จุดชมวิวหิมาลัยแบบพาโนรามา โกเรปานี พูลฮิล มัจฉะปุชเรย์ เบสแคมป์ อันนาปุรณะเบสแคมป์ และน้ำพุร้อน จุดเก็บแต้มเยอะขนาดนี้ จึงต้องใช้เวลาในการเดินมากกว่าเส้นมารดิหิมาล หิมาลัยที่เราจะเห็นในระหว่างการเดินทางคือ ยอดเขา มัจฉะปูชเรย์ และอันนาปุรณะใต้
เราสามารถเดินทางไปอันนาปุรณะเบสแคมป์ได้หลายทาง คือ
1. เส้นทางหมู่บ้านตาโตปานี ที่เป็นแหล่งน้ำพุร้อน ผ่านพูลฮิล
2. จากเมืองโพครา ไปหมู่บ้านไนยาปูร์ ผ่านหมู่บ้านกานดุก ที่งดงาม ของชาวกุงรุง หลังจากหมู่บ้านนี้ไปแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่า เราจะไปจุดชมวิวพูลฮิล หรือเราจะเดินลัดไปอันนาปุรณะเบสแคมป์ เลยก็ได้
3. เริ่มต้นจากหมู่บ้าน จินนุดานดา ที่เป็นที่ตั้งของน้ำพุร้อนเช่นกัน ขึ้นไปหาอันนาปุรณะเบสแคมป์ ได้เลย และขากลับเราอาจเลือกกลับทางเดิม หรือเดินผ่านพูลฮิล และลงมายังหมู่บ้านกานดุก
4. เริ่มจากหมู่บ้านบิเรนทานี ผ่านอูเรลี่ พูลฮิล และไปยังอันนาปุรณะเบสแคมป์ ในเส้นทางนี้จะโหดไปสักหน่อย สำหรับคนที่เข่าไม่ดี เพราะเราจะต้องเดินขึ้นบันได 3000 ขั้นในเส้นทางนี้ เตรียมนึกถึงสภาพตอนลงกันได้เลยค่ะ ว่าจะดิ่งขนาดไหน
การเดินเส้นอันนาปุรณะเบสแคมป์ มีหลากหลายอารมณ์มากค่ะ เราจะเจอ ทั้งป่าทึบ ป่าโล่ง ป่าไผ่ ทุ่งดอกกุหลาบพันปี โดโรเดนดรอน น้ำตก ทุ่งหญ้าที่รายล้อมไปด้วยหิมาลัยสีดำในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-ธันวาคม) และวิวแบบพาโนรามา ที่ขาวโพลนและรายล้อมไปด้วยหิมาลัยสีขาว ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มกราคม-เมษายน) ความทรมานบันเทิงที่เราได้พบเจอในเส้นทางนี้ คือ บันได
เนื่องจากเป็นเส้นทางเทรกที่เปิดมานาน ทางการเนปาลก็ได้พัฒนาเส้นทางไปเรื่อย ๆ ทำบันไดให้เดินสะดวกกันยิ่งขึ้น (เหมือนหวังดีประสงค์ร้ายยังไงก็ไม่รู้นะคะ) โดยหารู้ไม่ว่า ถ้าไม่มีบันได เราน่าจะเดินได้ง่ายกว่า การจะเดินไปถึงอันนาปุรณะเบสแคมป์ได้ เราต้องเดินข้ามเขากันหลายลูกมาก ระหว่างทางก็จะเชื่อมด้วยบันได ซึ่งเขาบางลูกก็เป็นบันไดที่ชันเกือบ 90 องศากันเลยทีเดียว
เดินขึ้นลงบันได กันจนเก็บไปฝัน หลังจากจบทริป เห็นบันไดก็ยังผวา เพราะย่อเข่ากันไม่ได้
เดี๋ยวค่ะ เดี๋ยว!!! อย่าเพิ่งเปลี่ยนใจ เมื่อทรมานกันขนาดนี้ แล้วจะมาเดินทำไมให้เมื่อยตุ้ม ผู้เขียนจะบอกว่า ผลตอบแทนบนความทรมาน เหล่านี้ ก็คุ้มค่าด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิวของหมู่บ้านหินแปลกตา ของชาวพื้นเมืองชนเผ่ากุงรุง ที่มีฉากหลังเป็นหิมาลัยรายล้อมรอบ ของหมู่บ้าน กานดุก หมู่บ้านโกเรปานี เป็นต้น วิวของหิมาลัยแบบพาโนรามาที่จุดชมวิว พูลฮิล ภาพของท้องฟ้าหลายหลากสีที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า
จากพูลฮิล เราจะเห็นยอดเขา มัจฉะปูชเรย์ (6,993 m) อันนาปุรณะ I (8,091 m) สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก อันนาปุรณะ II (7,937 m), อันนาปุรณะ III (7,555 m) อันนาปุรณะใต้ (7,219 m) เดาลาดิรี (8,167 m) สูงเป็นอันเจ็ดของโลก ฮิลชูริ (6,441 m) นิลกิรีหิมาล (7,061 m) ดัมปุดพีค (6,012 m) ตุกเชพีค (6,920 m) และ แกงกาปุรณะ (7,455 m)
จะเห็นว่าความสูงของภูเขาจะใกล้เคียงกัน ทำให้เราเห็นภูเขาเรียงกันไปสูงต่ำไม่ต่างกันมาก นักเดินทางจะจำได้ดีคือยอดเขามัจฉะปูชเรย์ และอันนาปุรณะใต้ เนื่องจากมีรูปร่างที่แตกต่างจากยอดเขาลูกอื่น ๆ และพบเห็นบ่อยที่สุดระหว่างทาง จากจุดชมวิว
เราดั้นด้นเดินผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ไปจนถึงมัจฉะปูชเรย์เบสแคมป์ ณ จุดนี้เหมือนเราก้มหน้าก้มตาเดินแล้วอยู่ ๆ ก็เดินหลุดออกไปอีกโลกหนึ่ง จากทางเดินแคบ ๆ ออกสู่พื้นที่โล่งกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา วิวของยอดเขาหางปลาสูงใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า เมื่อหันหลังให้หางปลา เราจะเจอยอดเขาอันนาปุรณะ I และ south ตั้งอยู่ตรงหน้า เหมือนแค่เอื้อมเดินอีกแป๊บก็ไปถึง ผู้เขียนขอเตือนไว้ก่อนเลยว่า ใกล้ตาไกลเท้ามากค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีภูเขาลูกอื่น ๆ อย่าง นิลกิรีหิมาล (7,061 m) และ ฮิลชูริ (6,441 m)
จากมัจฉะปูชเรย์เบสแคมป์ เราเดินอีก ประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึงอันนาปุรณะเบสแคมป์แล้วค่ะ ข้างหลังเบสแคมป์จะเป็นเส้นทางไปสู่จุดเริ่มต้นของการปีนอันนาปุณระ I ที่สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ถือเป็นยอดเขาที่ขึ้นชื่อว่าปีนยาก และอันตรายที่สุดเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการปีนยอดเขานี้เราจะได้ใกล้ชิดกับยอดเขาอันนาปุรณะ I และ อันนาปุรณะใต้อย่างใกล้ชิดมากค่ะ
ถึงแล้วนะคะ อันนาปุรณะเบสแคมป์ วิวจะแตกต่างกันไป ตามฤดูกาล
มารดิหิมาล
เส้นมารดิหมาล ได้ชื่อว่า ใต้เงาของยอดเขามัจฉปูชเรย์ เราจะเห็นยอดเขานี้เด่นชัดที่สุดตลอดการเดินทาง ความเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ยังคงบริสุทธิ์อยู่ เป็นดั่งสถานที่ลับที่ซ่อนอยู่ในป่าลึกของอันนาปุรณะเลยก็ว่าได้ ดูเหมือนมารดิหิมาล จะอยู่ลึกเข้าไปข้างใน แต่เส้นทางในการเดินไม่ได้ยากอย่างที่คิด ใช้จำนวนวันน้อย แม้ว่าจุดสูงสุดของเส้นทางนี้จะสูงกว่า อันนาปุรณะเบสแคมป์ก็ตาม
ไฮไลท์ของเส้นทางนี้คือ ทะเลหมอก ที่รายล้อมด้วยยอดเขาหิมาลัย ที่ไฮแคมป์ และจุดวิวพร้อย ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ หมู่บ้านออสเตรเลี่ยนแคมป์ และหมู่บ้าน โป-ทะนา เป็นหมู่บ้านที่มียอดเขาหิมาลัย รายล้อมหมู่บ้าน ซึ่งใช้เวลาเดินจากจุดเริ่มเทรก หมู่บ้านดัมปุด ประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าใครอยากให้ผู้สูงอายุ ได้มาเห็นหิมาลัย งาม ๆ โดยไม่ต้องเดินเหนื่อยมาก ผู้เขียนแนะนำให้พักที่หมู่บ้านดัมปุด ซึ่งไม่ต้องเดิน มีรถเข้าถึงตัวหมู่บ้านได้เลย หรือถ้าอยากออกกำลังกาย อยากลิ้มรสชาติการเทรกนิดหน่อย ก็เดินขึ้นไปที่หมู่บ้าน โป-ทะนา หรือ ออสเตรเลี่ยนแคมป์ก็ได้ (สองหมู่บ้านนี้จะมีแยกออกไปสองเส้นทางคือเลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวา ความงามพอ ๆ กันค่ะ)
เส้นทางเทรกจะเป็นทางเดินง่าย ๆ ค่อย ๆ เดินขึ้น เราจะเดินผ่านป่ากุหลาบพันปี โดโรเดนดรอน ยาวมาก แบบเหมือนหลงหายเข้าไปในป่า มีต้นไม้ยืนต้นสูงมากมาย รวมทั้งต้นเมเปิลด้วยค่ะ ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว (ตุลาคม-พฤศจิกายน) ต้นไม้จะเริ่มเปลี่ยนสี เราจะเห็นใบไม้สีเขียว เหลือง แดง สลับกันสวยงาม
ในเส้นทางนี้ เราจะเริ่มเห็นยอดเขามัจฉะปูชเรย์ ที่โลแคมป์ แต่นั่นเรายังอยู่ในป่าอยู่นะคะ จากโลแคมป์ เราเดินเข้าป่าอีกครั้งเป็นการเดินขึ้น และทะลุออกจากป่า เป็นลานกว้างเหมือนหลุดออกมาอีกมิติหนึ่ง ที่ซ่อนอยู่ จากตรงนี้ เราสามารถมองเห็น หิมาลัยรายล้อมอยู่ด้านหน้า ขอเรียกตรงนี้ว่า มิดเดิน แคมป์นนะคะ เราจะเห็นหมู่บ้าน ไฮแคมป์ อยู่บนเขาไกล ๆ เราพักชมวิวถ่ายรูปตรงนี้ จากตรงนี้เราจะเห็น อันนาปุรณะ I อันนาปุรณะ II มัจฉะปูรชเรย์ มารดิหิมาล เท่าที่ผู้เขียนจำได้นะคะ จริงๆ แล้วก็มีอีกหลายยอด เรียงยาวกันเป็นตับ
จุดไฮไลท์ อีกจุด คือ ไฮแคมป์ ที่ตั้งอยู่บนสันเขา จากตรงนี้นอกจากหิมาลัยที่รายล้อมแล้ว เรายังเห็นทะเลหมอกด้านล่างอีกด้วย จากไฮแคมป์ ขึ้นไปหาจุด ชมวิว และมารดิหิมาล เบสแคมป์ จะเดินค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นทางชันมาก และเส้นทางที่เดินไม่เด่นชัดนัก ต้องค่อย ๆ เดิน เฮือกสุดท้ายของจุดชมวิว จะมีบันไดให้เดินขึ้น วิวจะแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นยอดเขาหิมาลัย ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม ส่วนอีกฝั่งจะเป็นทะเลหมอก ขาวโพลนเหมือนสำลี ที่อยากกระโดดลงไปนอนเลยค่ะ
เล่ามายืดยาว ของสองเส้นทางแล้วนะคะ เรามาดูความแตกต่างของสองเส้นทางนี้กันค่ะ
| Annapurna BC | Mardi Himal |
จำนวนวันเดินทาง | 10-13 วัน | 7-9 วัน |
ความสูงจากระดับน้ำทะเล | 4,130 เมตร | 4,500 เมตร |
ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ | น้อยกว่า | มากกว่า |
จำนวนนักท่องเที่ยว | มากกว่า | น้อยกว่า |
ไฮไลท์ของวิว | มีวิวแบบพาโนรามาที่งามมาก | มีวิวของทะเลหมอกที่สวยงามมาก |
อาหารและที่พัก | ดีกว่า | ดีน้อยกว่า |
หมู่บ้านและวัฒนธรรม | มีวัฒนธรรม และหมู่บ้านระหว่างทาง ที่เจริญมากกว่า | เป็นที่พักที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เมื่อหมดฤดูท่องเที่ยวจะลงมาพักด้านล่าง |
ใบอนุญาตเทรก | TIMS card และ ACAP | TIMS card และ ACAP |
สัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เนต | ไม่มี | ไม่มี |
ค่าใช้จ่าย | แพงกว่า เพราะจำนวนวันเดินทางมากกว่า 850$-1000$ | ถูกกว่า เพราะจำนวนวันเดินทางน้อยกว่า 700$-900$ |
สำหรับท่านที่รักพี่เสียดายน้อง อยากจะเดินทั้งสองเส้นทางพร้อมกัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 14 วันของทั้งสองเส้นทางรวมกัน หรือถ้ามีเวลาจำกัด ก็ค่อย ๆ เก็บไปทีละเส้นทางก็ได้ค่ะ
ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านบทความของเรา เพื่อไม่พลาดข่าวสาร และเรื่องราวดี ๆ ในประเทศเนปาล สามารถติดตามเราได้ในทุกช่องทางโชเชี่ยวมีเดีย ทั้งเฟสบุค ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมนะคะ
Commentaires